วิตามินอี คือวิตามินที่ละลายในไขมันที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ มีหน้าที่สำคัญคือเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย ช่วยลดการอักเสบ ลดการทำลายเซลล์ต่างๆในร่างกาย
Vitamin E ประกอบไปด้วยสารที่ละลายในไขมันทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่ alpha-, beta-, gamma-, delta- tocopherol และ alpha-, beta-, gamma-, delta- tocotrienol ซึ่ง alpha-tocopherol เป็นชนิดเดียวที่ร่างกายมีการดูดซึมผ่านตับ และสามารถตรวจพบได้มากในเลือด ในขณะที่ชนิดอื่นๆ จะถูกตับขับออก และถูกขับออกไปกับอุจจาระ ซึ่งจะตรวจพบในร่างกายมนุษย์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โครงสร้างทางเคมีของ alpha-tocopherol
หน้าที่ของวิตามินอี
ทำไมเราถึงต้องการวิตามินอี ?
Vitamin E ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ซึ่งสารอนุมูลอิสระ (Free radicals) คือโมเลกุลที่มีความไม่เสถียร เกิดปฏิกิริยากับเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ เซลล์ถูกทำลาย เกิดการอักเสบต่างๆของร่างกาย อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ ภาวะจอตาเสื่อมจากอายุ รวมไปถึงโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้สารอนุมูลอิสระยังทำให้เกิดการสะสมไขในในตับทำให้เกิดการอักเสบของตับแม้ว่าไม่ได้รับประทานแอลกอฮอล์อีกด้วย สารอนุมูลอิสระ เกิดจากร่างกายสันดาปสารอาหารให้เป็นพลังงาน การสูบบุหรี่ การได้รับมลพิษทางอากาศ หรือได้รับรังสียูวีจากแสงแดดก็ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระได้เช่นกัน
Vitamin E ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะยับยั้งกระบวนการสร้างสารอนุมูลอิสระที่จากการสันดาปไขมัน ป้องกันไม่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวและส่วนประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ของอวัยวะของร่างกายถูกทำลาย โดยเชื่อว่าวิตามินดังกล่าวจะช่วยป้องกันโรคหรือชะลอการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระเหล่านี้
นอกจากนี้มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าวิตามินชนิดนี้ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อ และยังมีผลที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ต่างๆของร่างกายได้
สารอนุมูลอิสระ ตัวการที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ
ปริมาณของวิตามินอีที่ร่างกายต้องการต่อวัน
องค์การอนามัยโลกระบุปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน (The Recommended Dietary Allowance – RDA) ของ Vitamin E ในคนที่อายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไป คือ 15 มิลลิกรัม (หรือ 22 International units, IU)
แต่ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตรจะต้องการปริมาณวิตามินอีมากกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย คือ 19 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือ 28 IU)
ในประเทศไทย จะมีความแตกต่างจากองค์การอนามัยโลกเล็กน้อย โดยมีการระบุปริมาณวิตามินอีที่ควรได้รับต่อวันสำหรับคนอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไปคือ 13 มิลลิกรัมในเพศชาย และ 11 มิลลิกรัมในเพศหญิง
หน่วย International Units หรือ IU คือหน่วยวัดมาตรฐานสากล ซึ่งใช้อ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์แต่ละตัวเมื่อยาหรือวิตามินเข้าสู่ร่างกายและแตกตัวออกมา ซึ่ง 1 IU ของยาหรือวิตามินแต่ละตัว จะมีปริมาณที่แตกต่างกัน ซึ่ง 1 IU Vitamin E โดยธรรมชาติ (natural form) จะเท่ากับ 0.67 มิลลิกรัม ส่วน 1 IU Vitamin E จากการสังเคราะห์ (synthetic form) จะเท่ากับ 0.45 มิลลิกรัม
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอี
สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายขาดวิตามินอี
โดยทั่วไป ภาวะขาดวิตามินอี จะเกิดได้น้อยในคนสุขภาพดี เนื่องจากในชีวิตประจำวัน คนเรามักได้รับประทานอาหารที่มีวิตามินอี อย่างเพียงพออยู่แล้ว แต่เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ ละลายในไขมัน การดูดซึมจะขึ้นกับปริมาณน้ำย่อยจากตับอ่อน และน้ำดี ดังนั้นในคนที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมันได้ไม่ดีจากโรคทางกรรมพันธุ์บางชนิด โรคตับอ่อนอักเสบ หรือโรคที่มีปัญหาในการขับน้ำดีจากตับที่ช่วยการย่อยไขมันในลำไส้ จะทำให้มีปัญหาภาวะขาดวิตามินชนิดนี้ได้
อาการของการขาดวิตามินอี ได้แก่
- อาการทางระบบประสาท เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาการทางตา จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ตาพร่ามองได้ไม่ชัด
- อาการเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- อาการเดินเซ จากการขาด Vitamin E อย่างรุนแรง (Ataxia and Vitamin E deficiency - AVED) เนื่องจากเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่ตับไม่สามารถดูดซึม Vitamin E ได้ ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับ Vitamin E เป็นปริมาณมาก
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยวิตามินอี
อาหารตามธรรมชาติมากมายที่อุดมไปด้วยวิตามินอี โดยเฉพาะอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช และน้ำมันพืชทั้งหลาย นอกจากนี้ผักใบเขียว ผลไม้บางชนิดก็มีวิตามินชนิดนี้ด้วยเช่นกัน
แหล่งอาหารที่มีวิตามินอีมาก เช่น
อาหาร | ปริมาณ Vitamin E |
น้ำมันจมูกข้าวสาลี (Wheat germ oil) 1 ช้อนโต๊ะ | 20.3 มิลลิกรัม |
น้ำมันดอกทานตะวัน 1 ช้อนโต๊ะ | 2.1 มิลลิกรัม |
น้ำมันปาล์ม 1 ช้อนโต๊ะ | 5.6 มิลลิกรัม |
น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ | 0.9 มิลลิกรัม |
เมล็ดดอกทานตะวันอบแห้ง 1 ออนซ์ | 7.4 มิลลิกรัม |
อัลมอนด์อบแห้ง 1 ออนซ์ | 6.8 มิลลิกรัม |
ผักปวยเล้งต้ม (Spinach) ครึ่งถ้วย | 1.9 มิลลิกรัม |
ผักบร็อคโคลี่ต้ม ครึ่งถ้วย | 1.2 มิลลิกรัม |
กีวี่ 1 ลูกขนาดกลาง | 1.1 มิลลิกรัม |
มะม่วงเขียวเสวย ครึ่งผลกลาง (75 กรัม) | 0.9 มิลลิกรัม |
มะม่วงน้ำดอกไม้ ครึ่งผลกลาง (79 กรัม) | 0.6 มิลลิกรัม |
น้ำมันจมูกข้าวสาลี อุดมไปด้วย Vitamin E
การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินอีให้กับร่างกาย
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าอาหารที่มีวิตามินอีพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช และน้ำมันจากพืช ดังนั้นคนที่รับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำ มักจะไม่ขาดวิตามินชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษากลุ่มประชากรในประเทศไทยที่มีอาชีพทำงานในสำนักงาน พบว่ากลุ่มประชากรในการศึกษาเกือบทั้งหมดได้รับวิตามินอีน้อยกว่า 80% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะจำเป็นต้องได้รับวิตามินอีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย
ปัจจุบันมีอาหารเสริมวิตามินในท้องตลาดมากมาย มีทั้งที่เป็นวิตามินเดี่ยว หรือรวมกับวิตามินอื่นๆ รวมทั้งอยู่ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ เช่น ครีม หรือ โลชั่น ซึ่งถ้าถามว่าการกินวิตามินอีเสริมควรกินตอนไหน คำตอบคือสามารถกินตอนเวลาไหนก็ได้ แต่ถ้าต้องการให้ดูดซึมได้ดีที่สุด ควรกินพร้อมมื้ออาหาร หรือถ้ากินพร้อมอาหารที่มีไขมัน จะช่วยให้การดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น
โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Vitamin E จะมีแค่ alpha-tocopherol แม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่มีสารชนิดอื่น (เช่น delta-tocopherol หรือ gamma-tocopherol) ผสมวางขายในท้องตลาดด้วยก็ตาม หากลองสังเกตฉลากด้านหลังผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับวิตามินอีแบบสังเคราะห์ จะระบุไว้ว่าเป็น DL-alpha-tocopherol จะต่างจากวิตามินอีจากธรรมชาติ ที่จะแทนว่า D-alpha-tocopherol โดยวิตามินอีจากการสังเคราะห์จะมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกัน ทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์น้อยกว่าวิตามินอีที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่ง D-alpha-tocopherol 1 มิลลิกรัม จะเทียบเท่ากับ DL-alpha-tocopherol 2 มิลลิกรัม
ฉลากด้านหลังที่แสดงชนิดของวิตามิน และปริมาณต่อการบริโภค 1 เม็ด
ข้อจำกัดสำหรับการเสริมวิตามินอี
ปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป European Food Safety Authority – EFSA คือ 300 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ใหญ่ทั้งเพศชาย เพศหญิง หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษามากมายเรื่องความปลอดภัย โดยใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามินอีสังเคราะห์ พบว่า ผู้ใหญ่สุขภาพดีที่ไม่มีโรคประจำตัวแม้ว่าจะใช้ขนาดสูงถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 2 ถึง 3 เดือน ก็ไม่พบผลข้างเคียงต่อสุขภาพแต่อย่างไร
แต่การใช้วิตามินอี ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่ดี เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ ทำให้การเกาะของเกล็ดเลือดลดลง การแข็งตัวของเลือดก็จะนานขึ้น ภาวะเลือดออกง่ายจึงมากขึ้น โดยมีงานวิจัยที่พบว่าการกินวิตามินอีในรูปแบบอาหารเสริมปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออกในสมองได้ โดยเฉพาะในผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด เช่น Aspirin หรือ Warfarin เป็นประจำอยู่แล้ว
นอกจากนี้มีบางงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการกินวิตามินอีเสริมในปริมาณ 400 IU ต่อวัน จะทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการกินวิตามินดังกล่าว ในผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้น หรือผู้ที่กินยา Aspirin เป็นประจำ จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย
เรื่องน่ารู้ของ Vitamin E กับสุขภาพ
Vitamin E กับโรคหัวใจ
บางงานวิจัยได้กล่าวว่าวิตามินอีสามารถช่วยชะลอการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ส่วนงานวิจัยในหลอดทดลองก็แสดงให้เห็นว่าวิตามินมีประโยชน์ช่วยลดไขมัน Low-density lipoprotein (LDL) ที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ และนอกจากนี้วิตามินชนิดนี้ยังมีฤทธิ์ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งจะช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดที่จะไปอุดตันในส่วนต่างๆของร่างกายได้
แต่หลายงานวิจัยทางคลินิกก็ไม่ได้บอกว่าวิตามินอีจะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจได้จริง เพราะการให้วิตามินชนิดนี้เมื่อเทียบกับยาหลอก พบว่าทั้งสองกลุ่มเกิดโรคหัวใจหรือโรคเส้นเลือดสมองตีบไม่แตกต่างกัน แต่งานวิจัยส่วนใหญ่นี้มีข้อสังเกตว่าผู้เข้าร่วมวิจัยจะเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุที่มักจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอยู่แล้ว
ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็ให้ความเห็นว่า หากทานวิตามินอีเสริมในคนที่อายุน้อยและยังไม่มีโรคประจำตัวใดๆ อาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
Vitamin E กับโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่เจอได้ในผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่มีการสะสมสารอนุมูลอิสระปริมาณมากและไปทำลายเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้เกิดปัญหาความจำเสื่อม ดังนั้นการทานวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยชะลอความจำเสื่อมในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี โดยทานวิตามินอีปริมาณ 2000 IU ต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แนะนำการทานวิตามินชนิดนี้ในผู้ที่มีปัญหาความจำเสื่อมเพียงเล็กน้อยในคนที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากยังไม่มีผลงานวิจัยรองรับ
Vitamin E กับการป้องกันโรคตาเสื่อม
ภาวะจอตาเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาพร่ามัวมองไม่ชัดในผู้สูงอายุ อาจทำให้มีปัญหาพลัดตกหกล้มตามมาได้ วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้ชะลอความเสื่อมในภาวะนี้ได้ โดยการทาน Vitamin E 400 IU Beta-Carotene 15 มิลลิกรัม Vitamin C 15 มิลลิกรัม Zinc 80 มิลลิกรัม และ Copper 2 มิลลิกรัม ต่อวัน ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของจอตาจากอายุที่มากขึ้นได้
นอกจากนี้การทานวิตามินอี ยังมีประโยชน์ในการชะลอการเกิดต้อกระจก ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุอีกด้วย
Vitamin E ในผู้ป่วยตับอักเสบ
ในผู้ป่วยตับอักเสบจากการสะสมไขมันในตับ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็งและเสียชีวิตได้ แม้ว่าไม่ได้กินแอลกอฮอล์ก็ทำให้เกิดตับอักเสบนี้ได้ (Non-alcoholic fatty liver disease or Non-alcoholic steatohepatitis) ซึ่งสารอนุมูลอิสระก็เป็นหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ ดังนั้นการทาน Vitamin E ปริมาณ 800 IU ต่อวันจะช่วยการอักเสบได้
Vitamin E กับการป้องกันแสงแดด
ประโยชน์ที่น่าทึ่งอีกอย่างของ Vitamin E คือการเป็นสารปกป้องผิวหนังจากแสงแดด โดยมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการทาน Vitamin E ปริมาณ 1000 มิลลิกรัม คู่กับ Vitamin C 2000 มิลลิกรัม ต่อวัน นาน 7-12 สัปดาห์ จะช่วยให้ผิวทนต่อแดดได้ดีขึ้น ซึ่งนอกจากทำให้ชะลอความเสื่อมของผิวหนัง ยังสามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิตามินอี
วิตามินอี เป็นวิตามินที่อาจไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก แต่เป็นวิตามินที่สำคัญและมีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยป้องกันโรค และเสริมความงาม วิตามินอีมีประโยชน์มากมายอย่างไรนั้น มาลองดูกัน