วิตามินซี (Vitamin C) หรือที่เรียกว่ากรดแอล – แอสคอร์บิก (L-ascorbic acid) เป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ แต่อย่างไรก็ตามร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์หรือผลิตวิตามินนี้ได้เอง จึงมีความจำเป็นต้องได้รับจากภายนอก
วิตามินซี คือหนึ่งในวิตามินที่นิยมนำมาใช้ทางการแพทย์มากที่สุด เป็นวิตามินที่มีส่วนร่วมในเกือบทุกๆกระบวนการต่างๆภายในร่างกาย มีหน้าที่ที่หลากหลายเช่น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นปัจจัยร่วมในปฏิกิริยาเคมีของเอนไซม์หลายชนิดภายในร่างกาย ที่จำเป็นทั้งในกระบวนการสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
วิตามินซีถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1747 เมื่อมีลูกเรือของกองทัพเรือ เสียชีวิตจากโรคเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินนี้เป็นเวลานาน
โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคที่เกิดจากการขาดวิตามินซี
เลือดออกตามไรฟันเป็นปัญหาที่พบบ่อยในกองทัพเรือของโลก และคาดว่าส่งผลกระทบต่อลูกเรือถึงเกือบ 2 ล้านคน ในปี ค.ศ. 1747 James Lind ได้ทำการทดลองการรักษาทั้งหมด 6 วิธี สำหรับลูกเรือทั้งหมด 12 คนที่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน ผลการศึกษาพบว่ามีผลไม้คือ ส้มและมะนาวเท่านั้น ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้
นอกจากนี้โรคเลือดออกตามไรฟัน ก็เกิดขึ้นในสถานที่อื่นๆด้วยเช่นกัน ดังเช่นในไอร์แลนด์ ระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1852 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ความโหยหิวอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อรามันฝรั่ง (potato blight หรือ phytophthora infestans) ทำลายผลผลิตมันฝรั่งส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ การขาดแคลนมันฝรั่งครั้งใหญ่นั้นทำให้คนทั่วไปอดอยาก ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะวิตามินซี ที่ร่างกายเราไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ จึงทำให้เกิดเลือดออกตามไรฟันขึ้น
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1928 Albert Szent-Györgyi ได้ทดลองแยกสาร ออกจากต่อมหมวกไต ซึ่งเขาเรียกว่า กรดเฮกซูโรนิก (Hexuronic acid) และ 4 ปีต่อมา Charles Glen King สามารถแยกวิตามินซีออกมาได้ และพบว่าโครงสร้าง หรือสูตรทางเคมีมีความเหมือนกับกรดเฮกซูโรนิก ทำให้ในปี ค.ศ.1933 Norman Haworth สามารถทราบถึงโครงสร้างทางเคมีของวิตามินชนิดนี้ได้นั่นเอง
หน้าที่ของวิตามินซี
ทำไมเราถึงต้องการวิตามินซี ?
วิตามินซีมีหน้าที่สำคัญๆ มากมาย นอกเหนือจากบทบาทที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว วิตามินซียังทำหน้าที่เป็นปัจจัยร่วมในปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่สำคัญหลายประการ รวมถึงปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารอาหารบางชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย
มีหลายงานวิจัยพบว่า วิตามินนี้อาจช่วยป้องกันหรือชะลอการพัฒนาของมะเร็งบางชนิด รวมไปถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่นๆ ที่เกิดจากความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน
นอกจากนี้ วิตามินซียังมีบทบาทสำคัญในการทำงานของภูมิคุ้มกัน และช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้นการรับประทานวิตามินไม่เพียงพอจะทำให้เลือดออกตามไรฟัน ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณนั้นอ่อนแอลง และความเปราะบางของเส้นเลือดฝอย
วิตามินซีกับบทบาทช่วยรักษาบาดแผล / สมานแผล
ในผู้ที่มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลขนาดเล็ก หรือบาดแผลขนาดใหญ่ ร่างกายของเรามีกลไกในการสร้างเซลล์เพื่อสมานแผลต่างๆเหล่านั้นให้หาย โดยระยะเวลาในการรักษาบาดแผลในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
Vitamin C มีบทบาทช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนทั้งในผิวหนัง กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ช่วยสร้างเซลล์ นอกจากนี้ยังเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอย เพื่อช่วยให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่มีบาดแผลได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ที่ได้รับวิตามินชนิดนี้ในปริมาณต่ำเกินไป อาจมีผลให้เมื่อเกิดแผล แผลจะหายได้ช้ากว่าปกติ เนื่องจากร่างกายสามารถสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง
ดังนั้นในผู้ที่อยู่ช่วงพักฟื้น แพทย์หรือเภสัชกรมักแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซีนั่นเอง
วิตามินซีกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
พบว่าการเสริม Vitamin C มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยคุณสมบัติของวิตามินนี้ที่มีคุณสมบัติเป็น สารต้านอนุมูลอิสระ, ช่วยขยายหลอดเลือด, ปรับปรุงการผลิตไนตริกออกไซด์, ช่วยลดความไม่แน่นอนของคราบพลัคในหลอดเลือด
วิตามินชนิดนี้ ยังมีส่วนในการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่ตับ และเปลี่ยนคอเลสเตอรอลให้เป็นน้ำดี เพื่อขับออก นอกจากนี้ Vitamin C ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล, แอล ดี แอล ในเลือด และเพิ่ม เอช ดี แอล ได้
นอกจากนี้ยังช่วยรักษาผนังหลอดเลือด เพิ่มการสังเคราะห์พรอสตาไซคลิน ซึ่งเป็นสารที่ยับยั้งการจับตัวเป็น ก้อนของเกล็ดเลือด และขยายหลอดเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้
วิตามินซีกับต้อกระจกและการเสื่อมสภาพตามอายุของตา
Vitamin C ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงของต้อกระจกและการเสื่อมสภาพตามอายุของตาได้
มีงานวิจัยพบว่า หากรับประทานวิตามินนี้วันละ 490 มิลลิกรัมขึ้นไป สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคต้อกระจกได้ถึง 45% เนื่องจากเป็นสารที่ใช้ในการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระจกตาและเยื่อบุตา Vitamin C จึงสามารถช่วยปกป้องเลนส์ตาจากอันตรายต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ แสงอุลตร้าไวโอเลต ที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจกได้
วิตามินซีกับโรคเบาหวานและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ด้วย Vitamin C มีกลไกเข้าไปช่วยลดสารอนุมูลอิสระและการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยเบาหวาน วิตามินชนิดนี้จึงมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อีกทั้งช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย เป็นต้น
วิตามินซีกับโรคโลหิตจาง
Vitamin C ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้ จึงมีคำแนะนำให้รับประทานวิตามินเสริมกับยาเม็ดธาตุเหล็กเพื่อเพิ่มการดูดซึมในผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
ในทางกลับกัน การได้รับ Vitamin C ในปริมาณสูง สามารถเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก เมื่อร่างกายดูดซับธาตุเหล็กในปริมาณมากเกินไปที่เป็นอันตราย อาจทำให้ร่างกายเผชิญกับความเสียหายของเนื้อเยื่อได้ หากรับประทาน Vitamin C ในปริมาณสูงในระยะเวลานาน
วิตามินซีกับฤทธิ์ต้านมลพิษต่างๆ
ปัจจุบันเราแทบจะไม่สามารถเลี่ยงมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีต่างๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมไปถึงมลพิษอากาศ
มีการศึกษาพบว่าการเสริม Vitamin C และ Vitamin E ร่วมกัน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยลดอาการของโรคหอบหืด ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีลักษณะการอุดกั้นของทางเดินหายใจ การอักเสบของหลอดลมได้
วิตามินซีกับโรคภูมิแพ้
ภูมิแพ้ หรืออาการแพ้ระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากการกระตุ้นการตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการต่างๆเช่นอาการบวมและลมพิษ
มีการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือระบบทางเดินหายใจ โดยให้ Vitamin C ในปริมาณต่างๆ พบว่าการรับประทานวิตามินซีในปริมาณสูงอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการภูมิแพ้ได้
วิตามินซีกับโรคหวัด
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับประทาน Vitamin C เป็นประจำทุกวันไม่สามารถป้องกันหวัดได้ และไม่มีผลลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด
อย่างไรก็ตามพบว่าการรับประทานวิตามินนี้เป็นประจำทุกวันจะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ ขนาดวิตามินที่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดคือ 1-3 กรัมต่อวัน
และในผู้ที่ไม่เคยรับประทาน Vitamin C มาก่อน หากเป็นหวัดแล้วจึงเริ่มรับประทานวิตามิน จะไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เลย
วิตามินซีและโรคมะเร็ง
Vitamin C เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องร่างกายจากความเครียดจากการออกซิเดชั่น ซึ่งความเครียดจากการออกซิเดชั่น สามารถทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและอาจมีบทบาทในมะเร็งบางชนิด
มีการศึกษาพบว่าการรับประทานวิตามินชนิดนี้ในปริมาณสูงอาจชะลอการเติบโตของเนื้อเยื่อมะเร็งบางชนิด การเสริม Vitamin C ควบคู่ไปกับการรักษาอื่นๆ จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็ง
ปริมาณของวิตามินซีที่ร่างกายต้องการต่อวัน
ปริมาณของวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน หรือที่เรียกว่า Recommended Dietary Allowance (RDA) เป็นปริมาณเฉลี่ยต่อวันที่เพียงพอกับความต้องการสารอาหารของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งตามอายุ และกลุ่มคนได้ดังนี้
ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน
สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายขาดวิตามินซี
การขาด Vitamin C เฉียบพลันนำไปสู่โรคเลือดออกตามไรฟัน โดยอาจเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังจากรับประทานวิตามินซีน้อยเกินไป หรือไม่ได้รับประทานเลย (ต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อวัน) อาการเบื้องต้นของโรคเลือดออกตามไรฟัน อาจรวมถึงอาการเหนื่อยล้า เป็นไข้ และการอักเสบของเหงือกอันเนื่องมาจากความเปราะบางของเนื้อเยื่อและเส้นเลือดฝอย
เมื่อการขาดวิตามินซีดำเนินไปเรื่อยๆโดยไม่ได้รับการเสริม ร่างกายจะมีการสังเคราะห์คอลลาเจนลดลง ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆภายในร่างกายอ่อนแอลง ทำให้เกิดอาการคัน, อาการปวดข้อ, ร่างกายมีการรักษาบาดแผลได้ไม่ดี
นอกจากนี้เมื่อมีเลือดออกเพิ่มขึ้นและการดูดซึมธาตุเหล็กได้ลดลงเนื่องจากได้รับวิตามินซีในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ อาจนำไปสู่โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้
กลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับวิตามินซีในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
ผู้สูบบุหรี่
ผู้ที่สูบบุหรี่ มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำกว่า
ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ เนื่องมาจากความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้สูบบุหรี่จะต้องการ Vitamin C มากกว่าคนปกติถึง 35 มิลลิกรัมต่อวัน
นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสอง ยังไปลดระดับ Vitamin C ได้อีกด้วย ดังนั้นในผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการเสริมวิตามินชนิดนี้
ทารกที่ได้รับประทานนมแบบระเหยหรือต้ม
ทารกส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักได้รับนมแม่และ / หรือนมผงสำหรับทารก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ มีปริมาณของ Vitamin C ในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว แต่ในทารกกินนมวัวแบบระเหยหรือต้ม อาจทำให้ขาดวิตามินได้ เนื่องจากนมวัวตามธรรมชาติมี Vitamin C น้อยมาก และความร้อนสามารถทำลาย Vitamin C ได้
บุคคลที่มีรับประทานอาหารไม่หลากหลาย หรือรับประทานอาหารได้จำกัด
อย่างที่ทุกคนทราบกันดี แหล่งอาหารหลักที่มีวิตามินซีในปริมาณสูงก็คือ ผักและผลไม้ นอกจากนี้อาหารอื่นๆ ก็มีวิตามินนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้เราได้รับวิตามินนี้อย่างเพียงพอ
ผู้ที่มีปัญหาการดูดซึมและผู้ที่มีโรคเรื้อรังบางชนิด
ในผู้ที่มีภาวะลำไส้บกพร่อง อย่างรุนแรง และผู้ป่วยโรคมะเร็งบางราย อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดวิตามินเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอาจมีความเสี่ยงต่อปริมาณ Vitamin C ในเลือดที่ต่ำกว่าปกติได้
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี
Vitamin C พบมากในผักและผลไม้สด โดยเฉพาะพวกพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน มะนาว โดยใน 100 มิลลิลิตรของน้ำส้มคั้น น้ำมะนาว และน้ำสับประรด จะมีปริมาณของวิตามินนี้ อยู่ 40, 35, และ 10 มิลลิกรัม ตามลำดับ ฝรั่ง 100 กรัม มี วิตามิน อยู่ 200 มิลลิกรัม
อาหารจากสัตว์ที่มีวิตามินชนิดนี้มากได้แก่ ตับ ไข่ปลา ในน้ำนม น้ำนมคนมีประมาณ 4.4 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร น้ำนมวัวมีประมาณ 1.3 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
ผักที่มี Vitamin C สูง 5 ลำดับได้แก่
- พริกหวาน 100 กรัม มีวิตามิน 80.4 มิลลิกรัม
- บรอกโคลี100 กรัม มีวิตามิน 89.2 มิลลิกรัม
- ผักคะน้า100 กรัม มีวิตามิน 147 มิลลิกรัม
- ผักปวยเล้ง100 กรัม มีวิตามิน 120 มิลลิกรัม
- ใบมะรุม100 กรัม มีวิตามิน 141 มิลลิกรัม
ผลไม้ที่มี Vitamin C สูง 5 ลำดับได้แก่
- ส้ม 100 กรัม มีวิตามิน 53.2 มิลลิกรัม
- มะขามป้อม 100 กรัม มีวิตามิน 276 มิลลิกรัม
- สตรอเบอร์รี่ 100 กรัม มีวิตามิน 58.8 มิลลิกรัม
- ฝรั่ง 100 กรัม มีวิตามิน 160 มิลลิกรัม
- ลิ้นจี่100 กรัม มีวิตามิน 71.5 มิลลิกรัม
การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซีให้กับร่างกาย
ปัจจุบันถ้าเราลองพิจารณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Vitamin C ในท้องตลาด มักจะประกอบด้วยวิตามินที่อยู่ในรูปของกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) ซึ่งมีความสามารถในการดูดซึมเทียบเท่ากับกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในอาหาร เช่น น้ำส้ม และบร็อคโคลี
แต่ก็ยังมีอาหารเสริม Vitamin C ในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ รูปแบบของเกลือของกรดแอสคอร์บิก (Mineral ascobate) เช่น โซเดียมแอสคอร์เบต หรือ แคลเซียม แอสคอร์เบท นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของวิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoids) อีกด้วย
วิตามินในรูปกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) และ เกลือของกรดแอสคอร์บิก (Mineral ascobate) มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยเกลือของกรดแอสคอร์บิกมีสมบัติความเป็นกรดน้อยกว่าวิตามินในรูปกรดแอสคอร์บิก จึงมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ากรดแอสคอร์บิก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและความคงตัวของวิตามิน
แต่การเลือกใช้ควรคำนึงถึงสภาวะหรือโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือต้องจำกัดปริมาณโซเดียม ควรระมัดระวังการใช้ โซเดียม แอสคอร์เบท หรือ ผู้ที่มีภาวะไตวาย ควรระมัดระวังการใช้ โพแทสเซียม แอสคอร์เบท เป็นต้น
นอกจากนี้ วิตามินรูปแบบไบโอฟลาโวนอยด์ อาจมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมของ Vitamin C เข้าสู่ร่างกายได้ด้วย
ข้อจำกัดสำหรับการเสริมวิตามินซี
ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับ Vitamin C ที่มากเกินไป
วิตามินชนิดนี้มีความเป็นพิษค่อนข้างต่ำ และไม่ค่อยพบผลเสียร้ายแรง เมื่อรับประทานในปริมาณมาก อาการที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้องและอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ
ไม่ควรได้รับวิตามินนี้เกินปริมาณสูงสุงที่รับได้ต่อวัน
ปริมาณวิตามินซีสูงสุดต่อวัน
วิตามินซี กับคำถามน่ารู้
Vitamin C อาหารเสริมสำหรับผิวที่ช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์ และมีสุขภาพที่ดี
วิตามินนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม จึงจะเห็นได้ว่าวิตามินชนิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันริ้วรอยแห่งวัย และทำให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์และมีสุขภาพดี
วิตามินซีถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณของเอเชียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและการสร้างเซลล์ผิวใหม่
วิตามินชนิดนี้ช่วยในการไหลเวียนของเลือด และช่วยป้องกันการเปลี่ยนของสีผิว นอกจากนี้ Vitamin C ยังช่วยเรื่องผิวไหม้จากแสงแดดได้ด้วย เนื่องจากคุณสมบัติของวิตามินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยให้ผิวของคุณดูดซับและขจัดรังสียูวีที่เป็นอันตรายจากแสงแดดได้ นอกจากนี้ยังจำเป็นสำหรับการรักษาผิวไหม้จากแดดและลดความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังด้วย
วิตามินชนิดนี้ยังช่วยให้มีการผลิตคอลลาเจนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคอลลาเจนเป็นโปรตีนหลักที่ช่วยให้ผิวของเราแข็งแรงและอ่อนนุ่ม นอกจากนี้ยังให้ความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดความแห้งกร้านและอาการคัน การอักเสบของผิวหนังได้