วิตามินเอ และเบต้า แคโรทีน (Vitamin A; Beta-carotene)
สารอาหาร บำรุงสายตาที่สำคัญ
วิตามินเอ คืออะไร
วิตามินเอ หรือ Retinoids เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แหล่งอาหารโดยทั่วไปในธรรมชาติจะพบสารชนิดนี้อยู่ในรูปแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) เช่น Beta-carotene, alpha-carotene, Beta-cryptoxanthin ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ (Provitamin A) ที่ร่างกายต้องนำไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้อยู่ในรูปที่ร่างกายใช้งานได้ในตับ
วิตามินเอ มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
วิตามินเอมีความสำคัญต่อการมองเห็น ช่วยในเรื่องการมองเห็นในที่แสงน้อย หากเราขาดวิตามินเอจะทำให้เกิดอาการตาบอดกลางคืนได้ หากขาดเป็นเวลานานๆ อาการอาจรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ภาวะตาบอดได้
วิตามินเอ รวมถึงการรับประทานเบต้าแคโรทีนยังช่วยลดการเกิดภาวะจอตาเสื่อมที่พบบ่อยเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาอาการตาอักเสบ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงของการเกิดการติดเชื้อที่ตาได้
ปริมาณวิตามินเอ ที่แนะนำให้รับประทาน
ปริมาณของวิตามินเอที่แนะนำให้รับประทานทั่วไป คือ ประมาณวันละ 700 ไมโครกรัมของเรตินอลต่อวันในเพศชาย และ 600 ไมโครกรัมของเรตินอลต่อวันในเพศหญิง สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร แนะนำให้ได้รับเพิ่มขึ้น 100 และ 700 ไมโครกรัมของเรตินอลต่อวัน ตามลำดับ และปริมาณวิตามินเอสูงสุดที่แนะนำในผู้ใหญ่ คือประมาณ 3,000 ไมโครกรัมของเรตินอลต่อวัน
แหล่งอาหารของวิตามินเอ ได้แก่ ผักใบเขียว แครอท มะเขือเทศ ผลไม้ เนื้อตับ ปลา เป็นต้น อย่างไรก็ตามเบต้าแคโรทีนที่เป็นโปรวิตามินเอ พบได้เฉพาะในผัก และผลไม้เท่านั้น โดยเบต้าแคโรทีน ปัจจุบันยังไม่มีปริมาณที่แนะนำให้บริโภคชัดเจน
ผลข้างเคียงของการรับประทานวิตามินเอ
ผลข้างเคียงหากได้รับวิตามินเอเกินวันละ 1,500 ไมโครกรัมต่อวันคือ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้ และหากได้รับตั้งแต่ 7,500 ไมโครกรัมต่อวันเป็นเวลา 4-6 ปี อาจทำให้ตับทำงานผิดปกติได้
ในหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินเอมากเกินความจำเป็น เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเสริมในผู้ที่สูบบุหรี่ เนื่องจากอาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้
สำหรับการรับประทานเบต้าแคโรทีนเสริม ปัจจุบันยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ โดยอาจทำให้ผิวเหลืองขึ้นชั่วคราวหากรับประทานปริมาณมากๆ
วิตามินซี (Vitamin C)
วิตามิน บำรุงสายตา แหล่งสารอาหารที่หาได้รอบตัว
วิตามินซี คืออะไร
วิตามินซี เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญชนิดหนึ่ง ช่วยป้องการการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มากมาย ช่วยให้กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งเป็นสารต้านมะเร็ง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการศึกษาที่พบว่าวิตามินซีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ดีของดวงตาอีกด้วย
วิตามินซีเกี่ยวข้องกับการทำงานของสายตาอย่างไร
วิตามินซีสามารถพบได้ในน้ำเลี้ยงลูกตา และวุ้นตา โดยมีปริมาณเข้มข้นมากกว่าในเลือดประมาณ 20-70 เท่า สันนิษฐานว่าวิตามินซีที่เข้มข้นนี้มีส่วนช่วยในการกรองแสงยูวี อีกทั้งวิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงประสิทธิภาพ แม้ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการศึกษาที่ชัดเจน แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้
ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทาน
สำหรับปริมาณของวิตามินซีโดยทั่วไปในประชากรไทยผู้ใหญ่ที่แนะนำต่อวัน คือ 100 มิลลิกรัมในเพศชาย และ 85 มิลลิกรัมในเพศหญิง อย่างไรก็ดีการศึกษาความสัมพันธ์ของวิตามินซีกับการป้องกันโรคต้อกระจกนั้น ให้วิตามินซีปริมาณมากถึง 500-750 มิลลิกรัมต่อวันติดต่อกันหลายปี
สำหรับปริมาณวิตามินซีสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคโดยไม่เกิดผลข้างเคียง คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แหล่งอาหารของวิตามินซีในธรรมชาติ ได้แก่ ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ พริกหวาน ผักคะน้า เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินซี
การรับประทานวิตามินซีที่มากเกินไปโดยทั่วไปไม่ได้มีผลข้างเคียงอันตรายรุนแรง เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกจากร่างกายได้เองในปัสสาวะ แต่หากรับประทานครั้งละมากๆ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่าง เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว และหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปนานๆ อาจทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้
วิตามินอี (Vitamin E)
Vitamin บำรุงสายตาอีกชนิดที่ไม่ควรมองข้าม
วิตามินอี คืออะไร
วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายไม่สามารถผลิตเองต้องรับจากภายนอกร่างกาย วิตามินอีในธรรมชาติมี 8 รูปแบบ มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยังมีส่วนช่วยทำให้ผิวหนัง เส้นผม และเล็บแข็งแรงอีกด้วย
วิตามินอีเกี่ยวข้องกับการทำงานของสายตาอย่างไร
วิตามินอี มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แม้ยังไม่มีข้อสรุปจากการศึกษาที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะจุดรับภาพเสื่อมตามวัย และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกได้
ปริมาณวิตามินอีที่แนะนำให้รับประทาน
ปริมาณของวิตามินอีที่แนะนำให้รับประทานโดยทั่วไป คือ ประมาณวันละ 13 มิลลิกรัมต่อวันในเพศชาย และ 11 มิลลิกรัมต่อวันในเพศหญิง (รวมหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร) สำหรับปริมาณสูงสุดที่แนะนำในผู้ใหญ่ คือไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม
แหล่งอาหารในธรรมชาติที่อุดมไปด้วยวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินอี
การรับประทานวิตามินอีในปริมาณมากๆ อาจมีผลต่อภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก การแข็งตัวของเลือดช้าลง ดังนั้น การจะรับประทานวิตามินอีเสริมในแต่ละบุคคลอาจต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น ผู้ที่ทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่แล้ว หรือมีโรคตับ ก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
โอเมก้า 3 (Omega-3)
สารอาหารสำคัญ ป้องกันอาการตาแห้ง
โอเมก้า 3 คืออะไร
โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่ง ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง พบได้ในแหล่งอาหารจากธรรมชาติ เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า สาหร่าย ถั่ววอลนัท หน่วยย่อยของโอเมก้า-3 มีหลายชนิด ที่ได้ยินบ่อยๆ ได้แก่ Docosahexaenoic acid (DHA) และ Eicosapentaenoic acid (EPA)
โอเมก้า-3 มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยในการทำงานปกติของสมอง ชะลอภาวะสมองเสื่อม รวมถึงมีประโยชน์ต่อดวงตาของเราอีกด้วย
โอเมก้า 3 มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
โอเมก้า-3 มีประโยชน์ต่อดวงตา โดยเฉพาะในเรื่องการบรรเทาอาการตาแห้ง ช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำตาที่มีคุณภาพดี ลดอาการระคายเคืองตา และลดการอักเสบต่อดวงตา นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะจุดรับภาพเสื่อมตามวัย และป้องกันโรคเรื้อรังของดวงตาอื่นๆ
ปริมาณโอเมก้า 3 ที่แนะนำให้รับประทาน
ยังไม่มีขนาดของโอเมก้า-3 ที่แนะนำให้รับประทานสำหรับบำรุงดวงตา โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานโดยทั่วไปต่อวัน มีแนะนำตั้งแต่ 150-1,500 มิลลิกรัม ทั้งนี้ ปริมาณเฉลี่ยที่แนะนำคือประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามในบางแหล่งข้อมูลอาจให้รับประทานได้มากถึง 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งตรงกับคำแนะนำขนาดสูงสุดของโอเมก้า-3 จากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority (EFSA))
ผลข้างเคียงของการรับประทานโอเมก้า 3
การบริโภคโอเมก้า-3 มีข้อควรระวังในผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด และผู้ที่วางแผนทำหัตถการที่เสี่ยงต่อภาวะเลือดออก โดยอาจหยุดก่อนทำหัตถการประมาณ 1-2 สัปดาห์
พบผลข้างเคียงอื่นที่สามารถพบได้ เช่น อาการกรดไหลย้อน ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือเลือดกำเดาไหล นอกจากนี้ การรับประทานสารอาหารชนิดนี้ปริมาณมากๆ ต้องระวังผลข้างเคียงจากการได้รับสารอาหารอื่นที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เดียวกัน เช่น วิตามินเอ
ซิงค์ (Zinc)
แร่ธาตุชนิดหนึ่ง เพื่อการบำรุงสายตา
Zinc คืออะไร
Zinc (ซิงค์ หรือสังกะสี) เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก (Trace minerals) แต่มีความจำเป็น zinc ในร่างกายพบมากในกล้ามเนื้อประมาณ 60% และกระดูกประมาณ 30% ที่เหลือจะสะสมอยู่ตามผิวหนัง เส้นผม อวัยวะอื่นๆ และของเหลวในร่างกาย สำหรับในดวงตานั้นมีปริมาณ zinc เข้มข้นที่บริเวณขอบด้านนอกของจอประสาทตา (retinal pigment epithelium) zinc มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน การสร้างสารพันธุกรรม การรักษาสมดุลกรด-เบส รวมถึงช่วยในการมองเห็นปกติของดวงตา
Zinc มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
Zinc ช่วยในการดูดซึม การขนส่ง และการนำวิตามินเอไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมองเห็นของดวงตา นอกจากนี้ยังอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะจอประสาทเสื่อมตามวัย นอกจากรูปแบบรับประทาน ยังมีซิงค์ในรูปแบบหยอดตา (zinc eye drop) เพื่อช่วยลดอาการตาแห้ง และตาแดงได้อีกด้วย
ปริมาณ Zinc ที่แนะนำให้รับประทาน
ปริมาณสารอาหารอ้างอิงของ zinc ที่แนะนำทั่วไป คือ 9.1-9.7 มิลลิกรัมต่อวันในเพศชาย และ 8.6-9.7 มิลลิกรัมในเพศหญิง สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร แนะนำให้ได้รับเพิ่มขึ้น 1.3 มิลลิกรัมต่อวัน และ 2.9 มิลลิกรัมต่อวัน
ปริมาณสูงสุดของธาตุสังกะสีที่รับได้ในแต่ละวัน (Tolerable upper intake level) ที่บริโภคได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายสำหรับผู้ใหญ่ คือ 40 มิลลิกรัมต่อวัน รวมหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ดีมีการศึกษาที่ให้ zinc เสริมในปริมาณถึง 80 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลากว่า 6 ปี
ผลข้างเคียงของการรับประทาน Zinc
การบริโภคซิงค์ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เวียนศีรษะได้ และหากได้รับในปริมาณมากๆ ติดต่อกันนานๆ อาจมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เกิดภาวะโลหิตจางได้
ซีลีเนียม (Selenium)
แร่ธาตุ ป้องกันการเกิดโรคของดวงตา
ซีลีเนียม คืออะไร
ซีลีเนียม เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่มีความจำเป็น เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆ มากมาย รวมถึงช่วยในการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการอักเสบเรื้อรังของระบบต่างๆ ในร่างกาย และชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ
ซีลีเนียม มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
ซีลีเนียม มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันภาวะเสื่อมของเลนส์ตา ป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก อีกทั้งอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะต้อหินได้อีกด้วย และหากร่างกายขาดซีลีเนียมอาจทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็นได้
ปริมาณซีลีเนียม ที่แนะนำให้รับประทาน
ปริมาณซีลีเนียมที่แนะนำโดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ คือ 55 ไมโครกรัมต่อวันในเพศชายและเพศหญิง และต้องการมากขึ้นอีก 10 ไมโครกรัม และ 20 ไมโครกรัมในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
ซีลีเนียมพบมากในอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ อย่างไรก็ตามแหล่งของซีลีเนียมในอาหารมีปริมาณน้อย หากได้รับไม่เพียงพอก็แนะนำให้รับประทานเสริม ทั้งนี้ ปริมาณซีลีเนียมสูงสุดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ คือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
ผลข้างเคียงของการรับประทานซีลีเนียม
การบริโภคซีลีเนียมที่มากเกินไป อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ ผมร่วง และหากได้รับเกินขนาดเป็นเวลานานๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะตับวายได้
ทองแดง (Copper)
แร่ธาตุเพื่อดวงตาที่สวยงาม
ทองแดง คืออะไร
ทองแดง เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ประมาณสองในสามของทองแดงในร่างกายอยู่ในกระดูกและกล้ามเนื้อ ทองแดงมีความสำคัญ โดยเป็นตัวช่วยในการเกิดปฎิกิริยาต่างๆ ของการสร้างพลังงานในเซลล์ และช่วยในกระบวนการต่อต้านสารอนุมูลอิสระของร่างกาย
ทองแดง มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
ทองแดงเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อดวงตา ช่วยรักษาสภาพเม็ดสีของนัยน์ตาให้มีความสวยงาม ป้องกันภาวะจุดรับภาพที่จอตาเสื่อม หากร่างกายขาดธาตุทองแดง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้
ปริมาณทองแดง ที่แนะนำให้รับประทาน
ปริมาณทองแดงที่แนะนำโดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ คือวันละ 1.6 มิลลิกรัมในเพศชายและ 1.3 มิลลิกรัมในเพศหญิง และต้องการมากขึ้นอีก 0.2 มิลลิกรัม และ 0.56 มิลลิกรัมในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
แหล่งอาหารที่มีทองแดงมาก เช่น ตับ อาหารทะเล ถั่วเมล็ดแห้ง รวมถึงยาเม็ดที่มีทองแดงเสริมเป็นส่วนประกอบ สำหรับปริมาณทองแดงสูงสุดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ คือ 5 มิลลิกรัมต่อวัน
ผลข้างเคียงของการรับประทานทองแดง
การรับประทานทองแดงที่มากเกินไป อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือเป็นตะคริวที่ท้องได้
ลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin)
แคโรทีนอยด์เพื่อสุขภาพของดวงตาที่ดี
ลูทีน และซีแซนทิน คืออะไร
เป็นสารประเภทแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) จากพืชที่มีกลุ่มย่อยมากมายหลายชนิด มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบได้มากบริเวณจอประสาทตา สารทั้งสองชนิดนี้พบได้ในผักสีเขียวเข้ม เช่น บล๊อกเคอรี่ ปวยเล้ง ผักเคล ผักกาดหอม
ลูทีน และซีแซนทิน มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
ลูทีน และซีแซนทิน มีประโยชน์ต่อสายตาโดยช่วยลดการอักเสบของดวงตา ทำให้การมองเห็นคมชัดมากขึ้น ลดการเกิดแสงสะท้อนในดวงตา ปกป้องดวงตาจากแสงยูวี ฟื้นฟูความเหนื่อยล้าของดวงตา
นอกจากประโยชน์ดังกล่าว สารทั้งสองชนิดนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ของดวงตา ได้แก่ ภาวะจอตาเสื่อม การเกิดเบาหวานขึ้นจอตา ภาวะต้อกระจก อาการตาแห้ง
ปริมาณลูทีน และซีแซนทิน ที่แนะนำให้รับประทาน
ยังไม่มีการศึกษาถึงปริมาณที่แนะนำชัดเจนของสารทั้งสองชนิดนี้ ทั้งนี้หลายการศึกษาแนะนำให้รับประทานลูทีน และซีแซนทินวันละประมาณ 1-3 มิลลิกรัม ทั้งนี้ มีการศึกษาที่ให้รับประทานลูทีน 10 มิลลิกรัม และซีแซนทิน 2 มิลลิกรัม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะจุดรับภาพที่จอตาเสื่อมได้
ผลข้างเคียงของการรับประทานลูทีน และซีแซนทิน
สำหรับผลข้างเคียงนั้น พบว่าการบริโภคลูทีนและซีนแซนทินค่อนข้างมีความปลอดภัย มีการศึกษาที่ให้รับประทานปริมาณมากถึง 20 มิลลิกรัมโดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง แม้รับประทานเป็นเวลาหลายปี
สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo Biloba extract)
สมุนไพร บำรุงสายตา แหล่งกำเนิดจากดินแดนตะวันออก
ใบแปะก๊วย คืออะไร
ใบแปะก๊วย คือ สมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง มีการใช้อย่างแพร่หลายทางการแพทย์มายาวนาน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยบำรุงสมอง ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ สารสกัดจากใบแปะก๊วยที่วางขายมีทั้งรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือแบบน้ำ
สารสกัดจากใบแปะก๊วย มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
ใบแปะก๊วยถือเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อดวงตา การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย มีส่วนช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงดวงตา ช่วยป้องกันภาวะจอตาเสื่อม และภาวะเบาหวานขึ้นจอตา สารสกัดจากใบแปะก๊วยยังมีส่วนในการปกป้องเส้นประสาทของตาอีกด้วย
ปริมาณสารสกัดใบแปะก๊วย ที่แนะนำให้รับประทาน
ยังไม่มีปริมาณที่ชัดเจนสำหรับการรับประทานเสริม โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย 40 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือประมาณวันละ 120-240 มิลลิกรัม แบ่งรับประทานหลายๆ เวลา อาจเริ่มในปริมาณต่ำๆ ก่อน สำหรับปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้รับประทานโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายยังไม่มีข้อแนะนำชัดเจน แต่การศึกษาส่วนใหญ่ให้รับประทานไม่เกินวันละ 600 มิลลิกรัม
ผลข้างเคียงของการรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วย
ผลข้างเคียงต่อร่างกายพบน้อย โดยภาวะข้างเคียงที่พบได้ ได้แก่ ท้องอืด ท้องผูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น นอกจากนี้สารสกัดใบแปะก๊วยอาจมีปฏิกิริยาต่อยาที่ทานร่วมกันบางชนิด เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านซืมเศร้า
บิลเบอร์รี่ (Bilberry)
เบอร์รี่ บำรุงสายตาจากธรรมชาติ
บิลเบอร์รี่ คืออะไร
บิลเบอร์รี่ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Vaccinium myrtillus L. เป็นผลไม้สีน้ำเงินเข้ม อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี และแคโรทีนอยด์ อีกทั้งมีสาร anthocyanin ซึ่งเป็นสารฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่มีสีน้ำเงิน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ โดยทั่วไปปริมาณผลบิลเบอร์รี่สด 100 กรัม มี anthocyanin เป็นส่วนประกอบประมาณ 300-700 มิลลิกรัม
บิลเบอร์รี่ มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
บิลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อดวงตาหลายชนิด ป้องกันการเสื่อมสภาพของดวงตาที่อาจก่อให้เกิดโรคต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อมได้ ช่วยในการมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อย บรรเทาอาการตาเมื่อยล้า ตาแห้งจากการทำงาน ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สารสกัดจากผลบิลเบอร์รี่ต่างๆ มากมายหลายยี่ห้อสำหรับบำรุงสายตา
ปริมาณบิลเบอร์รี่ ที่แนะนำให้รับประทาน
ยังไม่มีปริมาณที่แนะนำชัดเจน อย่างไรก็ตามการศึกษาที่ผ่านมามีการทดลองใช้ในปริมาณต่างๆ เช่น ผลบิลเบอร์รี่สดปริมาณ 20-60 กรัมต่อวัน หรือการรับประทานสารสกัดบิลเบอร์รี่เสริม 160-200 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 2 ครั้ง ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น
ผลข้างเคียงของการรับประทานบิลเบอร์รี่
การรับประทานผลบิลเบอร์รี่ดิบโดยทั่วไปถือว่าปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่พอดี สำหรับสารสกัดบิลเบอร์รี่นั้นถือว่าค่อนข้างปลอดภัยแม้รับประทานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตามแนะนำให้หลีกเลี่ยงให้หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเพียงพอ นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องมีวางแผนผ่าตัด แนะนำให้งดรับประทานประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนทำหัตถการ เนื่องจากอาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้
โกจิเบอร์รี่ (Goji berry , Wolfberry)
โกจิเบอร์รี่ บำรุงสายตา ผลไม้หลากสารอาหาร
โกจิเบอร์รี่ คืออะไร
โกจิเบอร์รี่ หรือเก๋ากี๋ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Lycium barbarum) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งสีแดง มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ชาวจีนนิยมนำไปใส่ในชา ชุป หรือข้าวต้ม เพื่อบำรุงสายตา รักษาโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และยังเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ มากมาย เช่น ลูทีน ซีแซนทีน เบต้าแคโรทีน รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ แม้ยังมีหลักฐานยืนยันไม่เพียงพอ แต่ก็มีหลายการศึกษาที่พบคุณสมบัติที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการบำรุงสายตา
โกจิเบอร์รี่ มีส่วนช่วยบำรุงสายตาอย่างไร
โกจิเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณประโยชน์มากมาย ได้แก่ แคโรทีนอยด์ พอลิแซ็กคาไรด์ และฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และมีคุณสมบัติป้องกันระบบประสาทที่ส่งผลดีต่อจอประสาทตา
โกจิเบอร์รี่ยังมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ เกี่ยวกับดวงตา เช่น
- ลดการเกิดภาวะจอประสาทเสื่อมตามวัย โดยภาวะนี้มักพบมากในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี อาการคือจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็นที่ปกติ และทำให้เกิดจุดดำในภาพที่มองอย่างถาวรได้ สาเหตุหลักของภาวะนี้มาจากภาวะเครียดจากออกซิเดชัน หรือการมีสารอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไป ซึ่งสารอาหารในโกจิเบอร์รี่จะมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระนี้ได้
- โกจิเบอร์รี่ช่วยลดความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ทั้งนี้ ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงกลไกที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าโกจิเบอร์รี่ช่วยลดความรุนแรงที่เกิดจากภาวะเครียดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่จะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดของร่างกายและก่อให้เกิดเบาหวานขึ้นจอตา
ปริมาณโกจิเบอร์รี่ที่แนะนำให้รับประทาน
ยังไม่มีการศึกษาถึงปริมาณโกจิเบอร์รี่เสริมที่ชัดเจน แต่จากการศึกษามีการให้รับประทานประมาณ 13.7-25 กรัมต่อวัน กินติดต่อกัน 90 วัน ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะจอประสาทเสื่อมตามวัยได้
ผลข้างเคียงของการรับประทานโกจิเบอร์รี่
สำหรับเรื่องของความปลอดภัย การรับประทานโกจิเบอร์รี่โดยทั่วไปไม่พบผลข้างเคียงใดๆ อย่างไรก็ตามหากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการได้รับวิตามินเอเกินขนาด นอกจากนี้อาจมีผลต่อยาบางชนิดได้หากรับประทานในปริมาณมาก เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเสริมในปริมาณที่มากเกินไป
การดำรงชีวิตที่เหมาะสม ตัวช่วยสำคัญอีกประการสำหรับดวงตา
นอกจากสารอาหารต่างๆ หลากหลายชนิดข้างต้นที่มีส่วนช่วยดูแลสายตา และป้องกันการเกิดโรคต่างๆ แล้ว ควรทานอาหาร 5 หมู่อย่างเหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลต่อดวงตา เช่น เบาหวาน และควรใช้สายตาอย่างเหมาะสม เช่น การสวมแว่นกันแสงยูวี หลีกเลี่ยงการใช้สายตามองจอโทรศัพท์ จอคอมพิวเตอร์ติดต่อเป็นเวลานานๆ ดูโทรทัศน์ในระยะทางที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคตาเป็นประจำ และหากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรีบรักษาก่อนเกิดอันตรายรุนแรง