อาหารเสริมบำรุงสมอง

 

          สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เป็นศูนย์การสั่งการทำงานของร่างกาย การนึกคิด ความจำ อารมณ์ความรู้สึก การตัดสินใจ การวางแผน และแก้ปัญหาต่างๆ สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาทกว่าแสนล้านเซลล์ ทำงานเชื่อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

          ในปัจจุบันมีการศึกษาต่างๆ มากมายเกี่ยวกับอาหารเสริมบำรุงสมองและระบบประสาทมากมาย เราลองมาดูว่ามี 12 ชนิดสารอาหารโดนๆ ที่มีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ทำให้ความจำดี และชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง

  1. โอเมก้า 3 (Omega 3)
  2. เบต้าอะลานีน (Beta-alanine)
  3. ไทโรซีน (Tyrosine)
  4. ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
  5. ฟอสฟาติดิลซีรีน (Phosphatidylserine)
  6. คาเฟอีน (Caffeine)
  7. กัวรานา (Guarana)
  8. ใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba, Maidenhair tree)
  9. โสม (Ginseng)
  10. วิตามินบี (Vitamin B)
  11. วิตามินซี (Vitamin C)
  12. วิตามินอี (Vitamin E)

โอเมก้า 3 (Omega 3)

กรดไขมันจำเป็น EPA และ DHA บำรุงสมองสำหรับทุกเพศทุกวัย

โอเมก้า 3 คืออะไร

          โอเมก้า 3 เป็นหน่วยของไขมันชนิดหนึ่ง พบมากในปลา และอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล มีหน่วยย่อยของกรดไขมันจำเป็น 2 ชนิด คือ Docosahexaenoic acid (DHA) และ Eicosapentaenoic acid (EPA) มีความสำคัญต่อร่างกาย รวมถึงสมองเนื่องจากเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ และช่วยในการทำงานปกติของสมอง สำหรับวัยเด็กมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเติบโต การพัฒนาต่างๆ ของสมอง และในผู้สูงอายุยังช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมตามวัย และอาจบรรเทาอาการผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มแรกอีกด้วย

โอเมก้า 3 มีส่วนช่วยบำรุงสมองอย่างไร

          ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าโอเมก้า 3 มีสารประกอบย่อยคือ DHA และ EPA ซึ่งสารทั้งสองอย่างนั้นมีความสำคัญต่อสมอง โดย DHA เป็นส่วนประกอบหนึ่งของเซลล์สมอง ช่วยในการคงรูปและการทำงานของเซลล์สมอง ในขณะที่ EPA ถือเป็นสารที่ช่วยต้านการกระบวนการอักเสบ ช่วยปกป้องการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง

          โอเมก้า 3 ช่วยทำให้ระดับของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ในสมองลดลง ลดการตายของเซลล์ประสาท ลดการเกิดโรคภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังช่วยในการติดต่อส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้ความจำดีขึ้น และเรียนรู้ได้ไว

          สำหรับเด็ก ยังมีหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของระบบสมอง หากขาดสารชนิดนี้จะส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา เกิดความผิดปกติด้านความจำและการเรียนรู้ เกิดภาวะโรคสมาธิสั้น (ADHD: attention hyperactivity disorder) ได้

          โดยสรุปแล้ว โอเมก้า 3 ช่วยตั้งแต่การพัฒนาของสมอง เป็นส่วนหนึ่งของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท ปกป้อง และป้องกันการเสื่อมของเซลล์ สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการคิดบริหารจัดการต่างๆ ของสมองดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อม อีกทั้งอาจมีส่วนลดภาวะซึมเศร้า และความเครียดต่างๆ ได้

ปริมาณโอเมก้า 3 ที่แนะนำให้รับประทาน

          ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานโดยรวมทั้ง DHA และ EPA คือ ประมาณ 250-500 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ใหญ่ สำหรับหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้รับประทานเพิ่มจากปกติประมาณ 200 มิลลิกรัม และในวัยเด็กจะแนะนำให้รับประทานประมาณ 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ดี หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority (EFSA)) ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่แนะนำ คือ ไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน

          นอกจากอาหารเสริมแล้ว ยังสามารถพบสารอาหารชนิดนี้ได้ในอาหารธรรมชาติ เช่น น้ำมันตับปลา ปลาทะเล สาหร่าย ถั่ววอลนัท เป็นต้น

ผลข้างเคียงของการรับประทานโอเมก้า 3

          ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ อาจมีผลทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย โดยในผู้ที่วางแผนทำหัตถการที่มีเลือดออก เช่น การผ่าตัด ถอนฟัน จะแนะนำให้หยุดรับประทานก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์

          นอกจากนี้ การรับประทานสารอาหารชนิดนี้ปริมาณมากๆ ต้องระวังผลข้างเคียงจากการได้รับสารอาหารอื่นที่มีผสมอยู่ด้วยกันมากเกินจำเป็น เช่น วิตามินเอที่พบมากในน้ำมันตับปลา เช่น หากกินน้ำมันตับปลา บำรุงสมองปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ได้รับวิตามินเอเกินขนาดได้

 

เบต้าอะลานีน (Beta-alanine)

หน่วยของโปรตีนที่สำคัญ ช่วยผ่อนคลายความเครียดให้สมอง

 

เบต้าอะลานีน คืออะไร

          เบต้าอะลานีน เป็นหน่วยย่อยของโปรตีนหรือเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง สารชนิดนี้ร่างกายสังเคราะห์ได้เองจากกระบวนการเมแทบอลิซีมภายในร่างกาย อย่างไรก็ดีร่างกายสามารถรับสารอาหารชนิดนี้เพิ่มเติมได้จากการรับประทานเนื้อสัตว์ ปลา หรืออาหารเสริมอื่นๆ ประโยชน์ของเบต้าอะลานีนมีประโยชน์ที่มักได้ยิน คือ ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ทนต่อการใช้งาน ไม่เหนื่อยล้าง่าย

เบต้าอะลานีนช่วยบำรุงสมองอย่างไร

          เบต้าอะลานีนมีส่วนช่วยควบคุมและรักษาระดับของสารสื่อประสาทให้อยู่ในระดับที่ปกติ ทำการการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์มีประสิทธิภาพดี สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้อารมณ์ ความจำ และการเรียนรู้ของสมองมีประสิทธิภาพที่ดี

          จากการศึกษาพบว่าเบต้าอะลานีน ช่วยให้สมองกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ช่วยให้การคิดประมวลผลต่างๆ รวดเร็วขึ้น ช่วยให้มีความเข้าใจและตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีส่วนช่วยรักษาอาการเซื่องซึม อาการอ่อนล้าของสมอง

ปริมาณเบต้าอะลานีนที่แนะนำให้รับประทาน

          ปริมาณของเบต้าอะลานีนที่แนะนำให้บริโภคโดยทั่วไปคือประมาณวันละ 2-5 กรัม และประมาณวันละ 1 กรัมในเด็ก โดยอาจแบ่งรับประทานในปริมาณครั้งละน้อย

ผลข้างเคียงจากการรับประทานเบต้าอะลานีนมากเกินไป

          การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจมีผลให้เกิดอาการชาตามร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณใบหน้า ลำคอ หลังมือ หรืออาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้หารับประทานครั้งละมากๆ   

ไทโรซีน (Tyrosine)

สารประกอบของฮอร์โมนสำคัญในระบบประสาท

 

ไทโรซีน คืออะไร

          ไทโรซีน เป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็นอีกชนิดที่มีส่วนสำคัญสำหรับร่างกาย ร่างกายสามารถผลิตไทโรซีนได้เองจากสารอาหารตั้งต้นฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)  และอาจได้รับจากการรับประทานอาหารต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา และอาหารที่มีโปรตีนสูงต่างๆ เช่น ถั่ว หรือชีส เป็นต้น ไทโรซีน มีความสำคัญต่อการสร้างเอนไซม์ และฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท ได้แก่ โดปามีน (Dopamine), อะดรีนาลีน (Adrenaline) และนอร์อิพิเนฟรีน (Norepinephrine)

ไทโรซีนช่วยบำรุงสมองอย่างไร

          ไทโรซีนเป็นสารอาหารอีกชนิดที่เป็นที่นิยมบริโภคสำหรับบำรุงสมอง มีส่วนช่วยในการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาท ทำให้สมองตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงานของสมอง ช่วยให้สมองสามารถคิดบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

          สารชนิดนี้ยังอาจนำมาใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น ภาวะอารมณ์แปรปรวน ภาวะซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ ภาวะการติดสารเสพย์ติด เป็นต้น

          นอกจากนี้ ไทโรซีน ยังเป็นสารสำคัญของการผลิตเมลาโตนินที่เกี่ยวข้องกับระบบการนอนหลับ หากฮอร์โมนชนิดนี้ลดลง ซึ่งมักพบมากผู้สูงอายุ จะมีผลทำให้การควบคุมการตื่นและการหลับผิดปกติได้

ปริมาณไทโรซีนที่แนะนำให้รับประทาน

          สำหรับอาหารเสริมไทโรซีน จะแนะนำให้รับประทานประมาณ 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทาน 2-3 มื้อ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารอาหารนี้มักอยู่ในรูป N-acetyl L-tyrosine

ผลข้างเคียงจากการรับประทานไทโรซีนมากเกินไป

          อาหารเสริมไทโรซีนเป็นสารอาหารที่มีปลอดภัยต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่มากเกินร่างกายจะย่อยสลายและกำจัดออกนอกร่างกายได้เอง ทั้งนี้ การรับประทานครั้งเดียวในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

          สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสริม

 

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)

วิตามินพีบำรุงสมอง ป้องกันสมองเสื่อม

 

ฟลาโวนอยด์ คืออะไร

          ฟลาโวนอยด์ หรือวิตามินพี (vitamin P) เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่พบในธรรมชาติ โดยพบมากในผักผลไม้ เบอร์รี่ ใบชา ช็อกโกแลต ฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องร่างกายจากสารพิษต่างๆภายนอก ทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็ง ฟลาโวนอยด์ยังสามารถแบ่งออกได้อีกหลายชนิด เช่น แอนโทไซยานิน (anthocyanins), แคทีซิน (catechins), ฟลาวานอล (flavanols), ไอโซฟลาโวน (isoflavones) เป็นตัน

ฟลาโวนอยด์ เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          ฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับประโยชน์ของฟลาโวนอยด์ต่อสมอง โดยพบว่าช่วยให้สมองประมวลผลความคิดได้รวดเร็วขึ้น และช่วยให้จดจ่อกับการทำงานได้ดีขึ้น

          ฟลาโวนอยด์ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาก เช่น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นสารต้านการอักเสบ อาจเพิ่มไขมันดี (HDL) ลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีทางอ้อมต่อสมองโดยลดโอกาสการการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง

ปริมาณฟลาโวนอยด์ที่แนะนำให้รับประทาน

          สำหรับปริมาณที่แนะนำให้รับประทานนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน

ผลข้างเคียงจากการรับประทานฟลาโวนอยด์มากเกินไป

          ผลข้างเคียงหากรับประทานสารชนิดนี้มากเกินไปยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการรับประทานสารฟลาโวนอยด์ในขนาดสูงอาจมีผลลดระดับของยาชนิดอื่นได้หากรับประทานร่วมกัน

ฟอสฟาติดิลซีรีน (Phosphatidylserine)

สารสกัดจากถั่ว บำรุงสมองที่หลายคนยังไม่รู้จัก

 

ฟอสฟาติดิลซีรีน คืออะไร

          ฟอสฟาติดิลซีรีนเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเซลล์ โดยพบเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย มีความสำคัญต่อการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ การแบ่งตัวของเซลล์ สารชนิดนี้พบได้มากในอาหารจำพวกถั่วเหลือง ไข่แดง ตับไก่ ตับวัว อย่างไรก็ตามการดูดซึมสารอาหารนี้ในธรรมชาติค่อนข้างยาก

ฟอสฟาติดิลซีรีนเกี่ยวข้องกับสมองอย่างไร

          กรดไขมันชนิดนี้นอกจากทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องเซลล์ประสาทแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการทำงาน และการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท อีกทั้งยังส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น โดปามีน (Dopamine), อะดรีนาลีน (Adrenaline), นอร์อิพิเนฟรีน (Norepinephrine), เซโรโทนิน (Serotonin) และเมลาโทนิน (Melatonin) สารชนิดนี้ยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์สมองจากสารพิษต่างๆ

          จากการศึกษาพบว่าฟอสฟาติดิลซีรีนช่วยให้ความคิดและความจำมีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้สารชนิดนี้ยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาพยาธิสภาพอื่นๆ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น โรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า ภาวะเครียดวิตกกังวล โรคจิตเภท เป็นต้น

ปริมาณฟอสฟาติดิลซีรีนที่แนะนำให้รับประทาน

                จากการศึกษาพบว่าการรับประทานสารชนิดนี้ประมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยให้ความคิดและความจำมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ผลข้างเคียงจากการรับประทานฟอสฟาติดิลซีรีน

          กรดไขมันชนิดนี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจพบภาวะข้างเคียงจากการรับประทาน เช่น ท้องอืดท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ

          สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรยังไม่แนะนำให้รับประทานเสริม เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยต่อเด็กอย่างชัดเจน 

คาเฟอีน (Caffeine)

สารที่พบได้ในเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ชาเขียว ก็ช่วยบำรุงสมองได้

 

คาเฟอีน คืออะไร

          คาเฟอีน เป็นสารอินทรีย์จากพืช (plant alkaloid) ชื่อเต็มของสารชนิดนี้ คือ 1,3,7-trimethylxanthine สารชนิดนี้พบได้ทั้งในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ มากกว่า 60 ชนิด ตัวอย่างเช่น เมล็ดกาแฟ ชาเขียว ช็อกโกแลต หรือโกโก้

คาเฟอีน เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          คาเฟอีนออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งตัวรับอะดีโนซีน (adenosine receptors) ในสมอง เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่สมอง ส่งผลทำให้สมองตื่นตัว ลดความเหนื่อยล้า มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนต่อสมองที่พบว่าช่วยให้การทำงานของสมอง และความจำมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น ช่วยในกระบวนการคิด การบริหารจัดการต่างๆของสมอง และทำให้สมองจดจ่อกับการทำงานได้ดีขึ้น

ปริมาณคาเฟอีนที่แนะนำให้รับประทาน

          โดยปกติร่างกายดูดซึมสารคาเฟอีนได้อย่างรวดเร็ว โดยปริมาณคาเฟอีนในเลือดจะสูงสุดหลังกินสารชนิดนี้ประมาณ 15-120 นาที สำหรับปริมาณคาเฟอีนที่แนะนำให้บริโภค คือ ประมาณ 200-400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 2-4 แก้วต่อวัน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ แนะนำรับประทานไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม

ผลข้างเคียงจากการรับประทานคาเฟอีน

          ผลข้างเคียงที่พบหากเราได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไป คือ จะทำให้รู้สึกกระสับกระส่าย ใจสั่น ท้องอืด คลื่นไส้ และมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ  นอกจากนี้ในบางรายอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ไมเกรนกำเริบ และทำให้ความดันโลหิตสูงได้

 

กัวรานา (Guarana)

ผลไม้บำรุงสมองจากถิ่นกำเนิดอเมซอน

กัวรานา คืออะไร

          กัวรานา เป็นพืชพื้นเมืองในทวีปอเมริกาใต้ ลักษณะคล้ายลูกตามนุษย์ มีเปลือกสีแดง ผลของกัวรานานิยมนำมาสกัดเป็นผงหรือเครื่องดื่มเพื่อรับประทาน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ผลของกัวรานามีสารสำคัญหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ caffeine, theophylline, theobromin รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น tannins, saponins และ catechins 

กัวรานาเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          ผลของกัวรานามีสารหลายชนิดที่มีส่วนช่วยในการทำงานของสมอง โดยเฉพาะคาเฟอีน ที่มีปริมาณมากกว่าในเมล็ดกาแฟถึงประมาณ 4-6 เท่า และมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมายหลายชนิด ดังนั้นประโยชน์ต่อสมองของผลกัวรานา ได้แก่ ทำให้รู้สึกสดชื้นกระปรี้กระเปร่า ลดความเหนื่อยล้า และช่วยให้สมองสามารถจดจ่อกับการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ยังเชื่อว่ากัวรานายังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดในสมอง เพิ่มความจำ ลดความวิตกกังวล และปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น

ปริมาณกัวรานาที่แนะนำให้รับประทาน

          ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานนั้นยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าการรับประทานประมาณ 50-75 มิลลิกรัม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองได้ดี

ผลข้างเคียงจากการรับประทานกัวรานา

          สำหรับผลข้างเคียงหากรับประทานสารชนิดนี้ในปริมาณมากๆ อาจส่งผลคล้ายกับการได้รับคาเฟอีนปริมาณสูง เช่น ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ รู้สึกกระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีความดันโลหิตสูงได้

          นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่รับประทานยากดระบบประสาท ยาโรคหัวใจ ยาโรคหอบหืด ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคลมชัก รวมถึงวิตามินและสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น

 

ใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba, Maidenhair tree)

สมุนไพรกิงโกะบำรุงสมอง ชื่อเรียกขานที่คุ้นหูมายาวนาน

แปะก๊วย คืออะไร

          แปะก๊วย เป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เพื่อบำรุงสมอง มีถิ่นกำเนิดมากจากประเทศจีน มีสรรพคุณทางการแพทย์มากมายหลายอย่าง สารสกัดจากใบแปะก๊วยมีสารประกอบหลักสำคัญ 2 ชนิด คือ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และเทอร์ปีนอยด์ (Terpenoid) ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง

สารสกัดจากใบแปะก๊วยเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          มีการศึกษาต่างๆ มากมายเกี่ยวกับสารสกัดใบแปะก๊วย โดยสารชนิดนี้มีส่วนช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดในสมอง ช่วยเพิ่มสมาธิ การจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยในเรื่องความจำ และกระบวนการคิดที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในสารสกัดใบแปะก๊วยยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

ปริมาณแปะก๊วยที่แนะนำให้รับประทาน

          ยังไม่มีการศึกษาถึงปริมาณสารสกัดใบแปะก๊วยที่แนะนำชัดเจน ทั้งนี้ สารสกัดใบแปะก๊วยมีส่วนประกอบ 2 ชนิดที่สำคัญ คือ ฟลาโวนอยด์ไกลโคไซค์ (flavonoid glycosides) ประมาณ 24% และเทอร์ฟีนแลคโตน (terpene lactones) ประมาณ 6% ทั้งนี้ บางการศึกษาแนะนำให้รับประทานประมาณ 600 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

ผลข้างเคียงจากการรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วย

          ผลข้างเคียงของใบแปะก๊วยพบได้น้อย แต่ในบางคนอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น คลื่นไส้ ท้องอืด หรือท้องร่วงได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารชนิดนี้อาจเกิดผื่น หรือมีอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้นได้ ทั้งนี้ สารชนิดนี้จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงในผู้มีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยาก หรือผู้ที่วางแผนจะทำหัตถการต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดเลือดออก รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยลมชัก ผู้ที่มีบุตรยาก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

          สำหรับผู้ที่รับประทานยาชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAIDS) ยากันชัก ยาเบาหวาน ยาต้านอาการซึมเศร้า รวมถึงยาที่อาจมีผลต่อการทำงานของตับ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินสารสกัดใบแปะก๊วย เนื่องจากอาจมีผลรบกวนกับระดับยาต่างๆ เหล่านี้ได้

 

โสม (Ginseng)

สมุนไพรบำรุงสมองขึ้นชื่อจากโลกตะวันออก

โสม คืออะไร

         โสม เป็นรากของสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งที่มีการใช้ในทางการแพทย์มายาวนาน ใช้ระยะเวลาปลูกนานประมาณ 4-6 ปี มีสรรพคุณต่างๆ มากมาย เป็นทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น โสมเป็นสมุนไพรที่กินง่าย มักนำไปต้มน้ำเพื่อดื่ม หรืออาจนำไปสกัดเป็นผง เป็นเม็ด หรือในรูปแบบของน้ำมันเพื่อรับประทาน

โสมเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

         โสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองในเรื่องความจำ ช่วยปรับสภาพอารมณ์ ทำให้จดจ่อกับการทำงานได้ดีขึ้น และป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม ทั้งนี้พบว่าโสมมีสารจินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) ที่ช่วยเพิ่มระดับโดปามีน (Dopamine) และซีโรโทนิน (Serotonin) ในสมองได้

         โสมยังอาจใช้สำหรับเป็นยาทางเลือกเสริมในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ลมชัก ภาวะซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ กระวนกระวายอีกด้วย

ปริมาณโสมที่แนะนำให้รับประทาน

         ปริมาณที่แนะนำให้บริโภคเพื่อบำรุงการทำงานของสมอง คือประมาณ 1-2 กรัม สำหรับโสมดิบ หรือประมาณวันละ 200-400 มิลลิกรัม สำหรับโสมสกัด โดยแบ่งรับประทานเป็นหลายๆมื้อ แนะนำให้รับประทานประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเว้นระยะ 1-2 สัปดาห์ เพื่อความปลอดภัย และได้ประโยชน์ที่ดี

ผลข้างเคียงจากการรับประทานโสม

         ผลข้างเคียงต่อร่างกายพบน้อย แต่ควรรับประทานด้วยความระมัดระวังหากทานร่วมกับยารักษาเบาหวานเนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าปกติได้ นอกจากนี้ โสมอาจมีผลลดประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือด

         สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่าย เช่น ฮีโมฟีเลีย แนะนำให้หลีกเลี่ยงเนื่องจากอาจทำให้เสี่ยงต่อเลือดออกได้

         ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ และหญิงในนมบุตรยังไม่มีการศึกษาชัดเจนถึงความปลอดภัยจากการบริโภคโสม

วิตามินบี (Vitamin B)

วิตามินบี บำรุงสมอง สารอาหารสำคัญต่อร่างกายมนุษย์

วิตามินบี คืออะไร

          วิตามินบีเป็นกลุ่มของวิตามินที่ละลายในน้ำ มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานปกติของเซลล์ เกี่ยวกับปฏิกิริยาการสร้างพลังงานของเซลล์ต่างๆ การแบ่งตัวของสารพันธุกรรม (DNA, RNA) โดยวิตามินบีที่เกี่ยวของกับระบบประสาทหลักๆ ได้แก่ วิตามินบี6 (Pyridoxine), วิตามินบี9 (Folate), วิตามินบี12 (Cobalamin)

วิตามินบีเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          วิตามินบีแต่ละชนิดทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ที่มีส่วนในกระบวนการทางปฏิกิริยาต่างๆ ของเซลล์ ทำให้เซลล์ต่างๆ มีพลังงานสำหรับการทำงาน รวมถึงสมอง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการใช้พลังงานปริมาณมากที่สุดของร่างกาย หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทต่างๆ มากมาย

          วิตามินบี 6 (Pyridoxine) ประกอบไปด้วยไพริดอกซีน (Pyridoxine), ไพริดอกซัล (Pyridoxal) และไพริดอกซามีน (Pyridoxamine) วิตามินบี 6 มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสารสื่อประสาท เช่น โดปามีน, เซโรโทนิน, นอร์อะดรีนาลีน, เมลาโทนิน, กาบา (GABA) หากขาดวิตามินชนิดนี้อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ นอกจากนี้ วิตามินบี6 ยังมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการควบคุมการใช้น้ำตาลในสมอง

          โฟเลท (Folate; Vitamin B9) และวิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin) สารทั้งสองชนิดทำงานร่วมกันในการสร้างสารพันธุกรรม การแบ่งและซ่อมแซมเซลล์ประสาท รวมถึงสารสื่อประสาทต่างๆ หากขาดสารสำคัญ 2 ชนิดนี้อาจมีผลให้การเหนี่ยวนำ หรือการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท

          มีอีกหนึ่งประโยชน์ของวิตามินบี 6 (Pyridoxine), วิตามินบี 9 (Folate) และวิตามินบี 12 (Cobalamin) ต่อสมอง เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการสลายโฮโมซีสทีน (Homocysteine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้

ปริมาณวิตามินบี 6, วิตามินบี 9 และวิตามินบี 12 ที่แนะนำให้รับประทาน

          วิตามินบี 6 โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานวันละประมาณ 1.3 มิลลิกรัมทั้งในเพศชายและเพศหญิง และต้องการมากขึ้นในผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยเพศชาย ต้องการประมาณวันละปริมาณ 1.7 มิลลิกรัม และเพศหญิงต้องการ 1.5 มิลลิกรัม โดยปริมาณสูงสุดที่แนะนำโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ 100 มิลลิกรัมต่อวัน

          วิตามินบี 9 หรือโฟเลต ปริมาณที่ควรได้รับโดยทั่วไปคือประมาณวันละ 300 ไมโครกรัม ทั้งเพศชายและเพศหญิง และต้องการมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ (+250 ไมโครกรัม) และหญิงให้นมบุตร (+150 ไมโครกรัม) โดยปริมาณสูงสุดที่แนะนำโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ 1,000 ไมโครกรัมต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ รวมหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

          วิตามินบี 12 ปริมาณที่ควรได้รับโดยทั่วไปคือประมาณวันละ 2.4 ไมโครกรัม ทั้งเพศชายและเพศหญิง และต้องการมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ (+0.2 ไมโครกรัม) และหญิงให้นมบุตร (+0.4 ไมโครกรัม) สำหรับปริมาณสูงสุดที่แนะนำโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายนั้นยังไม่มีข้อมูลศึกษาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามเคยมีการศึกษาที่ให้วิตามินบี 12 ในขนาดถึง 1000 ไมโครกรัมต่อวันเพื่อลดระดับโฮโมซีสทีนในกระแสเลือด

ผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินบี

          การรับประทานวิตามินบีค่อนข้างปลอดภัย หากได้รับมากเกินไปร่างกายสามารถขับออกได้ในปัสสาวะ การรับประทานวิตามินบีบางชนิดที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น

          วิตามินบี 6 - หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทได้ โดยพบเมื่อรับประทานที่ขนาดมากกว่า 1000 มิลลิกรัมเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดีมีหลายการศึกษาที่ให้รับประทานวิตามินบี 6 วันละ 750 มิลลิกรัมติดต่อกันมากกว่า 1 ปี โดยไม่พบผลข้างเคียงนี้

          วิตามินบี 9 หรือโฟเลต – การรับประทานเสริมในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็นอาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดได้ และอาจเกิดภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยที่โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ได้ นอกจากนี้โฟเลตอาจมีผลต่อระดับยาที่ใช้รักษาโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มะเร็ง มาลาเรีย เป็นต้น

วิตามินซี (Vitamin C, Ascorbate)

แหล่งสารอาหารที่หาได้รอบตัว และมีประโยชน์ต่อสมอง

วิตามินซี คืออะไร

          วิตามินซี เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ พบมากในผลผลไม้ต่างๆ มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต และการซ่อมแซมเซลล์ต่างๆของร่างกาย ช่วยให้กระดูก ฟัน เหงือก หลอดเลือด และเส้นเอ็นต่างๆ แข็งแรง บำรุงระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสารต้านการอักเสบ รวมถึงยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (Nitrosamine)

วิตามินซีเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเรามักพบแอสคอร์เบตในเซลล์สมอง สารชนิดนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสารสื่อประสาทต่างๆ มากมาย ซึ่งมีผลต่ออารมณ์และการแสดงออก ไม่เพียงเท่าวิตามินซียังอาจช่วยลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือด โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสันได้จากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ   

          วิตามินซี ช่วยในการสร้างคอลลาเจนและโปรตีนต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์สมอง ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิด สมองฝ่อตามวัย ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีความแข็งแรง

          วิตามินซียังช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กที่มีส่วนทำให้เม็ดเลือดแดงแข็งแรง ทำให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย รวมถึงสมองได้ดีขึ้น

          ไม่เพียงเท่านี้วิตามินซี ยังมีส่วนในการสร้างสารโดปามีนในร่างกาย ทำให้สมองผ่อนคลาย มีประโยชน์ต่อความจำและการเรียนรู้อีกด้วย

ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทาน

          ปริมาณของวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทานเพื่อช่วยบำรุงสมอง คือ ประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยสามารถหารับประทานได้จากแหล่งอาหารในธรรมชาติที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่ง มะขามป้อม ผักคะน้า หรือรับประทานวิตามินซีเสริม ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคโดยไม่เกิดผลข้างเคียงคือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  

ผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินซี

          การรับประทานวิตามินซีที่มากเกินไปโดยทั่วไปไม่ได้มีผลข้างเคียงอันตรายรุนแรง เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกจากได้เองในปัสสาวะ แต่อาจมีอาการที่พบได้สำหรับวิตามินซีที่รับประทานทานปากครั้งละมากๆ เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว นอกจากนี้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปมากๆ อาจทำให้เกิดนิ่งในทางเดินปัสสาวะ จากการเพิ่มการสังเคราะห์ออกซาเลตในร่างกาย และอาจส่งผลให้ดูดซึมธาตุเหล็กมากเกินไป ที่จะเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินซีเสริมปริมาณมากๆ

วิตามินอี (Vitamin E)

สารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความรุนแรงของสมองเสื่อม

วิตามินอี คืออะไร

          วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายผลิตเองไม่ได้ต้องรับจากภายนอกร่างกาย วิตามินอีในธรรมชาติมี 8 รูปแบบ โดยมีประโยชน์ต่างๆ มากมาย มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการอักเสบ ป้องกันการเกินโรคมะเร็ง และช่วยในเรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินอี ยังมีส่วนช่วยทำให้ผิวหนัง เส้นผม เล็บต่างๆ แข็งแรง เราสามารถเลือกบริโภคอาหารที่มีวิตามินอีสูงได้จากน้ำมันพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น

วิตามินอีเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างไร

          วิตามินอีมีประโยชน์ต่อระบบสมอง โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ประสาทจากสารอนุมูลอิสระที่มีผลทำลายเซลล์ต่างๆ โดยจากการศึกษาพบว่ามีผลช่วยชะลอระยะความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ได้

ปริมาณวิตามินอีที่แนะนำให้รับประทาน

          ปริมาณของวิตามินอีที่แนะนำให้รับประทานทั่วไป คือ ประมาณวันละ 13 มิลลิกรัมต่อวันในเพศชาย และ 11 มิลลิกรัมต่อวันในเพศหญิง (รวมหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร) และปริมาณวิตามินอีสูงสุดที่แนะนำในผู้ใหญ่ คือประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน  

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่ให้รับประทานปริมาณวิตามินอีสูงถึง 2000 IU เป็นเวลา 2 ปี ในผู้สูงอายุ โดยพบว่าช่วยชะลอระยะความรุนแรงโรคอัลไซเมอร์ได้ และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงอื่นๆ

ผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินอี

          การรับประทานวิตามินอีในปริมาณมากๆ อาจมีผลต่อภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก การแข็งตัวของเลือดช้าลง ดังนั้น การจะรับประทานวิตามินอีเสริมในแต่ละบุคคลอาจต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น ผู้ที่ทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่แล้ว หรือมีโรคตับ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป

สารอาหารอื่นๆ และวิถีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม เพื่อบำรุงและพัฒนาสมองอย่างมีประสิทธิภาพ

          นอกจากสารต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว มียังมีสารอาหารบำรุงสมอง เพิ่มความจำประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท และสมอง เช่น ไนเตรท (Nitrate) ที่พบว่าช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในสมองส่วนหน้า ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

          เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอทราบแล้วว่ามีสารอาหารใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง อย่างไรก็ตามอย่าลืมรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากิจกรรมที่ผ่อนคลายลดความเครียด ฝึกสมาธิ และนอนหลับอย่างเพียงพอ เนื่องจากหลายปัจจัยเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบำรุงสมองตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยผู้ใหญ่ ไปถึงวัยผู้สูงอายุเช่นกัน