การคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
- ยาคุมฉุกเฉิน ชนิดเม็ด Emergency contraceptive pills (ECPs)
- ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง Copper-bearing intrauterine devices (IUDs)
การคุมกำเนิดฉุกเฉิน คือ วิธีการคุมกำเนิดที่สามารถใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยแนะนำให้ใช้ภายใน 5 วัน แต่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากใช้ทันทีหลังจากการมีเพศสัมพันธ์
ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดงเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉิน ต้องใส่โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
โดยคุณสามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินหรือการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้ในสถาณการณ์ต่างๆ เช่น
- การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน
- มีความกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวในการคุมกำเนิดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง เช่น ถุงยางอนามัยแตก การเลื่อนหลุด หรือการใช้อย่างไม่ถูกต้อง พลาดยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด แบบรวม 3 เม็ดขึ้นไป ติดต่อกัน
- การใช้ยาคุมกำเนิดอย่างไม่ถูกต้อง
- การล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่มีการคุมกำเนิด
ใครสามารถใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินได้บ้าง ?
ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่อาจจำเป็นต้องคุมกำเนิดฉุกเฉินเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ที่แน่นอนสำหรับการใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่มีการจำกัดอายุสำหรับการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
โดยการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินสามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ได้แก่
- ใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดที่มีตัวยา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน
- ใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดที่มีตัวยา ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) เป็นชนิดยาต้านโพรเจสติน
- ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งในแต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (Progestins)
- ใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง หรือ Copper-bearing intrauterine devices (IUDs) โดยใส่ภายใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน
สารบัญเนื้อหา
ยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด ที่ใช้กันในปัจจุบัน และยาคุมฉุกเฉินแบบต่างๆ มีหลักการทำงานอย่างไร
ยาคุมฉุกเฉินทำงานโดยการหยุดหรือชะลอการปล่อยไข่จากรังไข่ของผู้หญิง หรือที่เรียกว่าการตกไข่ ยาคุมฉุกเฉินไม่ทำให้แท้ง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหากคุณกินยานี้โดยไม่ได้ตั้งใจขณะตั้งครรภ์ โดยมียาหลายแบบ บางตัวเป็นยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ดจบ บางตัวต้องกินยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด
สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดที่ประกอบด้วยยา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel)
- ยา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ยับยั้งหรือชะลอการปล่อยไข่ออกจากรังไข่
- อาจป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิและไข่มาพบกันโดยส่งผลต่อมูกปากมดลูกหรือความสามารถของตัวอสุจิในการจับกับไข่
มีการศึกษาจำนวนหนึ่งให้หลักฐานโดยตรงที่ชัดเจนว่ายา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) หรือ LNG ป้องกันหรือชะลอการตกไข่ โดยยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) จะยับยั้งฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing) หรือ Pre-ovulatory luteinizing hormone: LH) ที่มักมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากก่อนการตกไข่ จึงไปขัดขวางการพัฒนาและการเจริญของฟอลลิคูลาร์ และการตกไข่
มีการศึกษาจำนวนหนึ่งได้ประเมินว่า ยาคุมฉุกเฉินทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางเนื้อเยื่อวิทยาและชีวเคมีของเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ การศึกษาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) หรือ LNG ไม่มีผลกระทบดังกล่าวต่อเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งบ่งชี้ว่ายาไม่มีกลไกในการป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนได้
ยา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) อาจรบกวนการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิโดยทำให้มูกปากมดลูกหนาขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิไปถึงไข่ จึงช่วยขัดขวางการปฏิสนธิได้
สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดที่ประกอบด้วยยา ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate)
ยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) หรือ UPA เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการตั้งครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน ยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) เป็นยาในกลุ่มที่เรียกว่า Progesterone receptor modulator โดยการจับกับตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งจะไปหยุดการหลั่งฮอร์โมน Luteinizing ที่เกิดขึ้นก่อนการตกไข่ ดังนั้นตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) จึงช่วยยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ได้ นอกจากนี้ ยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) หรือ UPA ยังสามารถต้านการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วได้โดยออกฤทธิ์รบกวนการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก ในขณะที่ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ไม่มีผลดังกล่าว
เนื่องจากตัวยานี้เป็นยาในกลุ่ม Selective progesterone receptor modulator รุ่นที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินสูงกว่ายา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) มีประสิทธิภาพสูงแม้อยู่ในช่วงที่ฮอร์โมนฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing) มีระดับสูงซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์แม้ว่าจะกินยาล่าช้าออกไปจนถึง 5 วัน หรือ 120 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม
ยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนรวม
ซึ่งในแต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (Progestins) กลไกของยากลุ่มนี้คือ เข้าไปขัดขวางการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ โดยช่วยยับยั้งการตกไข่ หรืออาจมีผลต่อการทำงานของคอร์ปัสลูเทียม แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ยากลุ่มนี้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูงกว่ายาตัวอื่นๆ
การใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง
ห่วงคุมกำเนิด (intrauterine device: IUD) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ มีทั้งชนิดใช้ป้องกันในระยะยาว และใช้เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วย นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นประเภทที่มีสารออกฤทธิ์ และไม่มีสารออกฤทธิ์ โดยสำหรับใช้คุมกำเนิดแบบฉุกเฉินจะเป็นชนิดทองแดง ซึ่งเป็นชนิดที่มีสารออกฤทธิ์คือทองแดง
ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง
ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดงจะออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันทีที่เริ่มใส่ห่วง กลไกของห่วงชนิดนี้คือ จะปล่อยทองแดง ซึ่งมีประจุ เป็นพิษต่ออสุจิและไข่ ทำให้ตัวอสุจิในโพรงมดลูกเคลื่อนที่ไม่ได้และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้นหมายความได้ว่า แม้จะมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น แต่ตัวอ่อนก็จะไม่สามารถฝังตัวได้ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์
สำหรับผู้ที่ตั้งครรถ์อยู่ ประจุของทองแดงไม่สามารถรบกวนตัวอ่อนที่ฝังตัวได้แล้ว จึงไม่มีฤทธิ์ในการทำให้เกิดการแท้ง
การใช้ห่วงคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถเริ่มใช้ได้ช้าถึง 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน
ยาคุมฉุกเฉินกินตอนไหน
ยาคุมฉุกเฉินทำงานได้ดียิ่งขึ้น เมื่อคุณกินยาเร็วที่สุด แล้วยาคุมฉุกเฉินกินตอนไหน จริงๆแล้วยาคุมฉุกเฉินกินยังไงขึ้นอยู่กับชนิดของฮอร์โมน นั่นคือ
- ยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีตัวยา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) 5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว 1 เม็ด ควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หรือภายใน 3 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน
- ยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีตัวยา ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) 75 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยเม็ดแรกรับประทานทันทีหรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- ส่วนยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีตัวยา ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) 30 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว 1 เม็ด ควรรับประทานภายใน 120 ชั่วโมง หรือ 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เอทินิลเอสทราดิออล (Ethinyl estradiol) 100 ไมโครกรัม และ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) 5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง (รวม 4 เม็ด) ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- การใส่ห่วงคุมกำเนิดทองแดงไม่เกิน 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อไหนดี แต่ละแบบมีประสิทธิภาพมาก น้อยแค่ไหน
ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อไหนดี เป็นคำถามที่หลายๆคนอยากหาคำตอบ จริงแล้ว ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ได้ประมาณ 85% โดยเฉลี่ย ยาชนิด ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) เป็นชนิดยาคุมฉุกเฉิน 1 เม็ด มีประสิทธิภาพมากกว่ายาคุมฉุกเฉินชนิด ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ที่เป็นยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด เล็กน้อย
ใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง เป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด มากกว่า 99%
อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีการคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีใดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% ยาคุมฉุกเฉินจะไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ หากคุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันอีกครั้งในรอบเดือนเดิม และการคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs)
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า น้ำหนักตัวและค่า body mass index (BMI) มีผลต่อประสิทธิภาพยาคุมฉุกเฉินชนิด ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เดี่ยวๆ โดยในหญิงที่มีน้ำหนักมากกว่า 75 กิโลกรัมมีความเสี่ยงที่จะคุมกำเนิดฉุกเฉินล้มเหลวสูงกว่าคนที่น้ำหนักน้อยกว่าประมาณ 4.5 เท่า และในหญิงที่มีค่า BMI มากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ดังนั้นสตรีที่มีน้ำหนักเกินจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้ลดลง จึงควรรีบรับประทานให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์
ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ในรอบประจำเดือนเดียวกันกับ ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate)
ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกไม่สบายหลังจากทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หากคุณมีอาการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) หรือยา ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) ภายใน 3 ชั่วโมง อาจใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาอื่นแทน
เนื่องจากยาบางชนิดสามารถลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ ดังนั้นควรปรึกษาเรื่องยาที่คุณใช้กับเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงหรือไม่
การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่ากับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นและไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำ นอกจากนี้ ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้แม้จะใช้อย่างถูกต้อง และไม่มีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่เหมาะสำหรับทุกคน ไม่แนะนำในผู้ที่
- แพ้ส่วนประกอบใดๆ ของยาเม็ดคุมกำเนิดตอนเช้า
- กำลังใช้ยาบางชนิดที่สามารถลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดหลังเช้าได้ เช่น ยาบาร์บิทูเรตหรือสาโทเซนต์จอห์น
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มีข้อบ่งชี้บางประการว่ายาเม็ดคุมกำเนิดหลังเช้าจะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เท่ากับสำหรับผู้หญิงที่ไม่มีน้ำหนักเกิน
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนใช้ ยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) ไม่ทราบผลของ ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) ต่อทารกที่กำลังพัฒนา หากคุณกำลังให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate)
ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ได้แก่
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- เวียนศีรษะ
- ความเหนื่อยล้า
- ปวดศีรษะ
- ปวดตึงเต้านม
- มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือมีประจำเดือนมากขึ้น
- ปวดท้องน้อยหรือเป็นตะคริว
คลื่นไส้หรืออาเจียนเป็นอาการที่พบได้บ่อยในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
ข้อควรรู้อื่นๆ เมื่อใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาแต่ละชนิดอย่างเคร่งครัด
- หากคุณอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ว่าควรทานยาอีกหรือไม่
- อย่ามีเพศสัมพันธ์จนกว่าคุณจะเริ่มวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ยาวนาน หากคุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในช่วงวันและสัปดาห์หลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ อย่าลืมเริ่มใช้หรือใช้การคุมกำเนิดต่อ
- การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจทำให้ประจำเดือนของคุณช้าลงได้ถึง 1 สัปดาห์ หากคุณประจำเดือนไม่มาภายใน 3-4 สัปดาห์หลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ให้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์
- โดยทั่วไป การใช้ยาคุมฉุกเฉิน ค่อนข้างมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากคุณมีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีอาการปวดท้องส่วนล่างอย่างรุนแรงภายใน 3-5 สัปดาห์หลังรับประทานยา สิ่งเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงการแท้งบุตรหรือว่าไข่ที่ปฏิสนธิได้ฝังอยู่นอกมดลูก หรือที่เรียกว่าการตั้งครรภ์นอกมดลูก จึงควรเข้าปรึกษาแพทย์ทันที
- สามารถใช้การคุมฉุกเฉินได้หรือไม่ ถ้าเมื่อกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ยาคุมฉุกเฉินมักไม่มีอันตรายทำให้เกิดการแท้งในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อยู่ และยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ายาคุมฉุกเฉินจะทำให้เกิดข้อบกพร่องหรือเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรือหากยาไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ และสามารถให้นมบุตรต่อไปได้เมื่อคุณทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่เลือกยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ด ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) แนะนำให้รีดน้ำนมแม่ทิ้งไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังจากนั้น
ยาคุมฉุกเฉินคุมได้นานกี่วัน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามารถรับประทานได้ทันทีเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน กับคำถามที่ว่ายาคุมฉุกเฉินคุมได้นานกี่วันนั้น จริงๆแล้ว ยาคุมฉุกเฉินป้องกันการตั้งครรภ์จากเพศสัมพันธ์ที่เกิดก่อนกินยาภายใน 72 ชั่วโมง โดยอาจเกิดการตั้งครรภ์ได้ในครั้งต่อไปหากมีเพศสัมพันธ์อีก เว้นแต่จะเริ่มใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นในคราวเดียว เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ด ออกฤทธิ์ชะลอการตกไข่ในผู้หญิง
ใน 1 เดือนไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก หากใช้เกิน 2 ครั้งในเดือนนั้น จะต้องรอประจำเดือนมาก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ จึงจะสามารถรับประทานยาคุมกำเนิดได้ อย่างไรก็ตามหากต้องการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง คุณต้องเริ่มใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นภายในวันถัดไป ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่อง เนื่องจากไม่แน่ใจเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ว่าเท่ากับวิธีการคุมกำเนิดแบบต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนี้ ยาคุมฉุกเฉินอาจมีผลข้างเคียงมากกว่า อีกด้วย
หากรับประทานยาคุมฉุกเฉิน แล้วล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ ผู้หญิงมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกมากกว่าหรือไม่
ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่ายาคุมฉุกเฉิน เพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูก การศึกษาทั่วโลกเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน เฉพาะโปรเจสติน รวมถึงการทบทวนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ไม่พบอัตราการตั้งครรภ์นอกมดลูกหลังจากที่ใช้ยาคุมฉุกเฉิน มากกว่าที่พบในการตั้งครรภ์โดยทั่วไป
สามารถรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินล่วงหน้าได้หรือไม่
คุณสามารถรับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก่อนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันได้
- คุณกังวลเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดของคุณล้มเหลว
- คุณกำลังจะไปในวันหยุด
- คุณไม่สามารถคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ง่ายๆ
พบแพทย์หรือพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับการคุมกำเนิดฉุกเฉินล่วงหน้า คุณสามารถพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับทางเลือกของคุณสำหรับวิธีการคุมกำเนิดแบบปกติ