ถ้าพูดถึงสุภาษิต “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” หลายคนก็คงนึกถึงฟ้าทะลายโจร นอกจากความขมของมันที่ทำให้หลายคนเบือนหน้าหนี แต่สรรพคุณทางยาของมัน ก็หาสมุนไพรอื่นใดมาเปรียบได้ เป็นสมุนไพรที่มีงานวิจัยรองรับเป็นจำนวนมาก มีสรรพคุณที่เรารู้จักกันดีในเรื่องรักษาโรคหวัด และป้องกันไข้หวัด แต่จริงๆแล้ว สมุนไพรชนิดนี้ยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมายที่หลายคนยังไม่รู้ จะเป็นอย่างไรนั้น ลองมาติดตามบทความนี้กัน
สารบัญเนื้อหา
ฟ้าทะลายโจร คืออะไร ?
ฟ้าทะลายโจร (ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata) คือ พืชชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Acanthaceae มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ศรีลังกา พืชในตระกูล Andrographis มีอยู่ 26 ชนิด แต่ฟ้าทะลายโจร เป็นหนึ่งในพืชที่พูดถึงมากที่สุดในตระกูลนี้ เนื่องจากเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมาย เป็นสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาอายุรเวทซึ่งเป็นตำรับยาการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย ส่วนการแพทย์แผนไทย ฟ้าทะลายโจรก็เป็นสมุนไพรที่นำไปใช้เป็นจำนวนมาก ช่วยในการรักษาและป้องกันโรคไข้หวัด เจ็บคอ รักษาอาการถ่ายเหลว นอกจากนี้ ยังมีบางตำรับยาที่ใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้านพิษงูหรือพิษของแมลงบางชนิดอีกด้วย
ชื่ออื่นๆของฟ้าทะลายโจร ได้แก่ หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน
ลักษณะต้นฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร ช่วยอะไร?
ฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายชนิด โดยมีกลุ่มใหญ่ๆ ที่เรียกว่า Diterpenoid lactone เป็นกลุ่มสารเคมีหลัก และในกลุ่มนี้ มีสารประกอบที่พบได้มากที่สุดคือ Andrographolide ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้สมุนไพรชนิดนี้มีรสขม แต่ก็เป็นสารที่มีสรรพคุณทางยามากมาย นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆที่มีประโยชน์อีก เช่น Neoandrographolide, 14-deoxyandrographolide, Arabinogalactin เป็นต้น โดยการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต ลดการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยยับยั้งการแบ่งเซลล์มะเร็งและลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งอีกด้วย
สารประกอบ Andrographolide เป็นสารรสขมที่พบได้มากในฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรช่วยรักษาและป้องกันไข้หวัดได้จริงหรือไม่
น่าจะเป็นหนึ่งในประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรที่เราคุ้นเคยกันที่สุดแล้ว ซึ่งมีการศึกษามากมายที่รองรับคุณประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนี้ ฟ้าทะลายโจรจะช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดได้ เช่น ลดอาการเจ็บคอ ลดอาการไข้ปวดเมื่อยตัวได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดระยะเวลาป่วยของไข้หวัด ทำให้หายได้ไวอีกด้วย โดยการรับประทาน ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ แต่ถ้าใช้เป็นแคปซูลซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยรับประทานครั้งละ 1.5 – 3 กรัม วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงแรกที่เริ่มมีอาการไข้หวัด และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 3 วัน หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรหยุดและไปพบแพทย์
นอกจากการรักษาแล้ว ยังมีสรรพคุณในการป้องกันโรคหวัด โดยการรับประทานวันละ 1-2 แคปซูล ต่อเนื่องกันไม่เกิน 3 เดือน จะช่วยป้องกันไข้หวัดได้
ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไข้หวัดได้
ฟ้าทะลายโจรที่อยู่ในรูปแคปซูล
ฟ้าทะลายโจรกับคุณสมบัติอื่นๆที่น่าทึ่ง
แก้ปัญหาท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ไม่มีไข้ โดยการนำทั้งต้นมาผึ่งลม หั่นชิ้นเล็ก 1 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน หรือรับประทานเป็นแคปซูลครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
ต้านเชื้อโรค สาร Arabinogalactan มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และ Pseudomonas aeruginosa ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในมนุษย์ที่พบบ่อย และยังมีรายงานว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida albicans ได้ นอกจากนี้สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียอีกด้วย
ลดการอักเสบ ในงานวิจัยจากหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรหลายชนิด ช่วยยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้จริง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมอักเสบ (Osteoarthritis) รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร 300 – 600 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 12 สัปดาห์ ก็จะช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมอักเสบได้ และยังมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative colitis) โดยการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร 1.2 – 1.8 กรัมต่อวันนานต่อเนื่อง 8 สัปดาห์
สารต้านอนุมูลอิสระ จากงานวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าการให้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดี ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระมีความสำคัญอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เคล็ดลับป้องกันโรค วิตามินอี ช่วยอะไร และ วิตามินอี
เสริมภูมิคุ้มกัน ฟ้าทะลายโจรช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Antibody) เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะโดยการกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้จับกินเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้มีงานวิจัยที่พบว่าสารสกัดบางตัวช่วยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดขาวในร่างกายได้อีกด้วย
กำจัดเซลล์มะเร็ง โดยงานวิจัยส่วนใหญ่ในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดบางชนิดช่วยยับยั้งการแบ่งเซลล์มะเร็งได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นต้น
ข้อควรระวังในการรับประทานฟ้าทะลายโจร
- อาการแพ้ยา เช่น ผื่นคันขึ้นตามร่างกาย หน้าบวม ปากบวม หรือถ้าเป็นการแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis) คือมีอาการทางระบบผิวหนังเช่นผื่น หน้าบวม ปากบวม ร่วมกับมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ อาการหอบเหนื่อย รู้สึกจุกแน่น หายใจไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำ อาการระบบทางเดินอาหารเช่นปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ควรหยุดยาแล้วรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้อีก
- อาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหารได้ เช่น ปวดท้อง รู้สึกมวนท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ หรือมีอาการใจสั่นได้ ถ้ามีอาการแบบนี้ควรลดปริมาณยาลงก่อน ถ้าหากลดแล้วยังมีอาการอยู่ควรหยุดยา
- หากใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการชาที่แขนขา หรือมีอาการอ่อนแรงได้ โดยตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ซึ่งหากใช้ปริมาณมากและนาน จะทำให้ร่างกายมีปริมาณความเย็นเกินไปจนมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงตามที่กล่าวมาได้
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากไม่ปลอดภัยกับเด็กในครรภ์
- ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต
- ระวังการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาอื่นๆ เนื่องจากสมุนไพรนี้อาจทำให้เสริมหรืออ่อนฤทธิ์ของยาอื่นๆได้ โดยเฉพาะยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น Warfarin) ยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (เช่น Aspirin) ยาลดความดันโลหิตสูง และยาที่มีกระบวนการเมทาบอลิซึมผ่านเอนไซม์ CYP450 ซึ่งหากท่านกำลังรับประทานยาใดๆเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงที่สุด
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้คือปวดท้อง มวนท้อง คลื่นไส้
สรุป ฟ้าทะลายโจร สุดยอดสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมาย
ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย และมีการนำไปศึกษาวิจัย จนมีความน่าเชื่อถือที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งบรรเทาอาการของไข้หวัด ลดระยะเวลาอาการป่วยของไข้หวัด ป้องกันโรคหวัด ลดการอักเสบ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามการรับประทานสมุนไพรนี้ในปริมาณที่สูงและนานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
- Okhuarobo A, Falodun JE, Erharuyi O, Imieje V, Falodun A, Langer P. Harnessing the medicinal properties of Andrographis paniculata for diseases and beyond: a review of its phytochemistry and pharmacology. Asian Pac J Trop Dis. 2014 Jun;4(3):213–22.
- ANDROGRAPHIS: Overview, Uses, Side Effects, Precautions, Interactions, Dosing and Reviews [Internet]. [cited 2021 Jun 22]. Available from: https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-973/andrographis
- Andrographis | Memorial Sloan Kettering Cancer Center [Internet]. [cited 2021 Jun 22]. Available from: https://www.mskcc.org/cancer-care/integrative-medicine/herbs/andrographis
- https://med.mahidol.ac.th/altern_med/th/km/19jun2020-1729
- https://www.nci.go.th/en/research/researhdivision/research_informationfarthalai.html
- https://opendata.data.go.th/dataset/item_ef16a7ea-44b9-4bbc-92b2-ff2cb35a924d
- https://www.cri.or.th/en/20090729.php
- http://www.pn.psu.ac.th/H1N1/document/faq/Q5.pdf
- https://www.dtam.moph.go.th/images/download/dl0113-18062564-05.pdf