ขณะนี้ในประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าเป็นหนึ่งในวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่หนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก คือผลข้างเคียงแอสตร้าเซนเนก้า และความปลอดภัย รวมถึงอาการแพ้ที่สามารถพบได้จากการฉีดวัคซีนโควิดชนิดนี้ ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงวิธีการเตรียมตัวมาฝากกัน เป็นอย่างไรนั้น ลองติดตามกันได้เลย
สารบัญเนื้อหา
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คืออะไร
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของรหัสพันธุกรรมที่สำคัญของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2 virus) ที่เรียกว่าสไปก์โปรตีน (Spike protein) นำไปใส่ในไวรัสที่ไม่ก่อโรคต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งไวรัสที่ไม่ก่อโรคนี้จะนำพาสไปก์โปรตีนเข้าสู่ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี หากฉีดเข็มแรก ผ่านไป 21 วันจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 61% และเมื่อได้รับครบ 2 เข็ม จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 80% (ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564) และเมื่อได้รับครบ 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิค-19 แบบมีอาการได้ 90 % นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100%
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงแอสตร้าเซนเนก้า
ผลการศึกษาของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในประชากรมากกว่า 10,000 คน เรื่องความปลอดภัยของวัคซีนพบว่าผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นระดับไม่รุนแรงและหายเองได้ ส่วนอาการแพ้วัคซีนแบบรุนแรงพบได้น้อยมากๆ
ผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรงที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ใน 48 ชั่วโมงแรกหลังจากฉีดวัคซีน และอาการจะดีขึ้นเองใน 2-3 วัน อาการเหล่านี้ได้แก่
- กดเจ็บบริเวณที่ฉีด (มากกว่า 60%)
- ปวดแขนข้างที่ฉีด (มากกว่า 50%)
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย (มากกว่า 50%)
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย (มากกว่า 40%)
- ไข้ หนาวสั่น (มากกว่า 30%)
- ปวดตามข้อ (มากกว่า 20%)
- คลื่นไส้ อาเจียน (มากกว่า 20%)
นอกจากนี้ผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ ปวดท้อง เหงื่อออกมากผิดปกติ คัน ผื่นขึ้นตามร่างกาย
อาการกดเจ็บบริเวณที่ฉีด และปวดแขนสามารถพบได้บ่อยหลังจากฉีดวัคซีน
วัคซีน AstraZeneca สามารถทำให้เกิดการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ได้ โดยมีรายงาน พบได้ 5 คนใน 1,000,000 คน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่พบน้อยมากๆ การแพ้ชนิดรุนแรงเป็นการตอบสนองของร่างกายหลังจากที่ได้วัคซีน ยา หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีความรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการของการแพ้ชนิดรุนแรงได้แก่ อาการทางระบบผิวหนังเช่นผื่น หน้าบวม ปากบวม ร่วมกับมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ อาการหอบเหนื่อย รู้สึกจุกแน่น หายใจไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำ อาการระบบทางเดินอาหารเช่นปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกัน ถือว่ามีอาการแพ้รุนแรงที่ต้องพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยการแพ้ชนิดรุนแรงอาจจะเกิดได้ทันทีใน 5 ถึง 10 นาทีหลังฉีด หรือหลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง
อาการหายใจหอบเหนื่อย จุกแน่น หายใจไม่ได้ หลังฉีดวัคซีน เป็นอาการหนึ่งของการแพ้ชนิดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์
ผลข้างเคียงแบบรุนแรงอีกอย่างหนึ่งของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีรายงาน คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome – TTS) ขณะนี้ยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ยากมาก พบได้ 1-2 คน ใน 100,000 คน (รายงานในประเทศออสเตรเลีย) อาการเริ่มมีได้ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง วันที่ 28 หลังฉีดวัคซีน โดยลิ่มเลือดอุดตันสามารถพบได้ตำแหน่งต่างๆทั่วร่างกาย ที่มีรายงานคือ พบในหลอดเลือดดำสมอง และหลอดเลือดดำในอวัยวะช่องท้อง แม้ว่าเป็นความเสี่ยงพบได้น้อยมาก แต่เป็นผลข้างเคียงที่อันตราย อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ โดยรายงานในสหราชอาณาจักรพบว่าอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 19% สามารถพบภาวะนี้ได้ทุกเพศและทุกกลุ่มอายุ แต่ในคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น และพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
อาการที่ควรเฝ้าระวังของภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่
1.อาการปวดศีรษะรุนแรง
ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้
– มีอาการหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว 4 วัน
– กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
– อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นเมื่อนอนราบ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา
2.อาการทางระบบประสาท
เช่น ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด ซึมสับสน ชักเกร็ง
3.เจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ
4.ขาบวมผิดปกติ
5.ปวดท้องรุนแรง ไม่มีช่วงที่อาการดีขึ้น
6.มีจุดจ้ำเลือดขนาดเล็กตามร่างกาย
ที่ไม่ใช่บริเวณที่ฉีดวัคซีน ร่วมกับมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น
หากพบว่ามีผลข้างเคียงเหล่านี้หลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
อาการปวดศีรษะรุนแรง แม้กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น อาจเป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ควรพบแพทย์
วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีผลข้างเคียงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
ผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นเองในช่วง 2-3 วัน หากรู้สึกไม่สุขสบาย เช่น หากมีอาการปวดบริเวณแขนที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไข้ หนาวสั่น สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ลดอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เนื่องจากยามีผลข้างเคียงทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ หากรู้สึกว่ามีอาการแพ้รุนแรง หรือมีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
Credit : youtube.com/watch?v=DsFe42nEFmw
Youtube : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
เตรียมตัวอย่างไร? เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงของแอสตร้าเซนนิก้าให้น้อยที่สุด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารก่อนมาฉีดวัคซีน ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหาร และสามารถทานชา กาแฟได้ตามปกติ
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้วในคนสุขภาพดี หากคนที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคไต หรือโรคหัวใจที่ต้องจำกัดน้ำ ควรดื่มน้ำอย่างจำกัดตามที่แพทย์แนะนำ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการฉีดวัคซีน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก 1-2 วันก่อนและหลังฉีดวัคซีน
- ผู้ที่กินยาคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องหยุดยา เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการกินยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- ไม่แนะนำให้กินยาแก้ปวด หรือยาแก้แพ้ก่อนรับวัคซีน เนื่องจากการกินยาโดยที่ไม่มีความจำเป็น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของยา หรือการแพ้ยาโดยที่อาจทำให้สับสนว่าแพ้วัคซีนหรือไม่ ส่วนการกินยาแก้แพ้ก่อนอาจทำให้บดบังอาการแพ้ที่แท้จริงของวัคซีน ทำให้การรักษาล่าช้าลงได้
- หากท่านมีโรคประจำตัวเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิแพ้ สามารถรับประทานยาได้ตามปกติก่อนมารับวัคซีน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องได้รับยากดภูมิบางชนิด หรือผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวท่านก่อนรับวัคซีน หรือลองศึกษาเพิ่มเติมได้จาก แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรม
- หากท่านมีอาการป่วย เช่น มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ก่อนฉีดวัคซีน ควรเลื่อนนัดเพื่อความปลอดภัย และพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
- ทำจิตใจให้สงบ ลดความกังวล การฉีดวัคซีนนี้มีความปลอดภัยสูง มีเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลเตรียมพร้อมช่วยเหลือตลอดหากท่านมีอาการข้างเคียงจากวัคซีน
บุคคลใดที่ควรฉีดและไม่ควรฉีดแอสตร้าเซนเนก้า
ประชาชนทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ควรเลือกชนิดวัคซีนให้มีความเหมาะสมกับผู้ที่ได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ข้อแนะนำสำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีดังนี้
เด็ก ยังไม่ควรได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยที่ใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ดังนั้นการให้วัคซีนในเด็กควรเลือกเป็นวัคซีนยี่ห้ออื่น เช่น Comirnaty (Pfizer/BioNtech) ที่มีงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี
ผู้ใหญ่ สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ แต่ในหลายประเทศแนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว แต่เมื่อชั่งน้ำหนักผลดี/ผลเสียแล้ว การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประโยชน์มากกว่าโทษ จึงยังแนะนำให้ฉีดต่อไป
ผู้สูงอายุ ควรฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างยิ่ง เนื่องจากได้ประโยชน์มาก และมีความปลอดภัย
สตรีตั้งครรภ์/ให้นมบุตร ในสตรีที่ให้นมบุตร สามารถรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ มีความปลอดภัย ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมบุตรทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน นอกจากนี้งานวิจัยยังบอกว่าน้ำนมของแม่ยังมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ส่งผ่านถึงลูกได้อีกด้วย ส่วนถ้าถามว่าวัคซีนโควิด คนท้องฉีดได้ไหม คำตอบนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษารองรับเรื่องความปลอดภัยในคนท้อง คำแนะนำในขณะนี้คือ ถ้ามีความจำเป็นต้องฉีดเพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้
ผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่กินยากดภูมิ สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ทำให้ปลอดภัย ถึงแม้ว่ายังไม่มีการศึกษาเรื่องการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่การฉีดมีประโยชน์กว่าการไม่ฉีดอย่างแน่นอน
ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 และหายแล้ว แม้ว่าร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นควรได้รับวัคซีนโควิดอีก โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน และไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากอย่างเพียงพอ
ในผู้สูงอายุควรได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างยิ่ง เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า
- ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าอย่างรุนแรงในเข็มที่ 1
- ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงต่อ polysorbate 80 ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า
- ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำในวัคซีนเข็มที่ 1
สรุป ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างไร ให้มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การอนามัยโลก จึงเชื่อมั่นได้ หากเรามีการเตรียมตัวที่ดี สังเกตอาการเมื่อมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ดูแลตนเองได้ถ้าเป็นผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีการแพ้ชนิดรุนแรงหรือมีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ก็จะทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้น และทุกคนก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในที่สุด
บทความอ้างอิง
- https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/
- https://www.astrazeneca.com/media-centre/articles/2021/ema-reaffirm-that-the-overall-benefits-of-az-covid-19-vaccine-continues-to-outweigh-risks.html
- https://www.azcovid-19.com/asia/th/th/consumer.html
- Health AGD of. About the AstraZeneca COVID-19 vaccine [Internet]. Australian Government Department of Health. Australian Government Department of Health; 2021 [cited 2021 Jun 13]. Available from: https://www.health.gov.au/initiatives-and-programs/covid-19-vaccines/learn-about-covid-19-vaccines/about-the-astrazeneca-covid-19-vaccine
- Information for Healthcare Professionals on COVID-19 Vaccine AstraZeneca [Internet]. GOV.UK. [cited 2021 Jun 13]. Available from: https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/information-for-healthcare-professionals-on-covid-19-vaccine-astrazeneca
- http://www.rcpt.org/index.php/announce/691-truthaboutcovid-19.html
- Pritchard E, Matthews PC, Stoesser N, Eyre DW, Gethings O, Vihta K-D, et al. Impact of vaccination on new SARS-CoV-2 infections in the United Kingdom. Nat Med. 2021 Jun 9;1–9.
- https://www.webmd.com/vaccines/covid-19-vaccine/news/20210127/covid-19-vaccine-how-best-to-prepare