สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดอวัยวะหนึ่ง ซึ่งมีเส้นเลือดไปเลี้ยงในส่วนนี้มาก เส้นเลือดแต่ละเส้นก็จะแบ่งเข้าไปเลี้ยงสมองแต่ละส่วนตามแขนงไป หากมีอะไรอุดกั้นเส้นเลือดเหล่านี้ หรือเส้นเลือดในสมองนั้นแตกออกมาเราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า โรคหลอดเลือดสมอง
ทุกๆ ปี มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 250,000 รายทั่วประเทศไทย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 50,000 คนต่อปี ถือว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และแต่ละปีก็จะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย จะเห็นได้ว่าโรคหลอดเลือดสมองพบได้บ่อยมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลของโรคหลอดเลือดสมองจะง่ายขึ้นมาก แต่วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคสมัยนี้ ก็ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น
ในบทความนี้จะมาพูดถึงโรคหลอดเลือดสมองแบบสรุปครบจบในบทความเดียว เพื่อทำให้คุณได้เข้าใจว่าโรคนี้คืออะไร และคุณจะได้รู้ว่ามันอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
การทำงานของสมองแต่ละส่วน จะทำงานแตกต่างกัน
สารบัญเนื้อหา
ประเด็นสำคัญโรคหลอดเลือดสมองแบบสั้นๆ
- โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้สมองส่วนที่เลือดเลี้ยงไม่พอทำงานผิดปกติ แสดงอาการผิดปกติทางระบบประสาทได้
- โรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่า โรคสโตรก (โรค Stroke) ได้ในภาษาอังกฤษ
- โรคหลอดเลือดสมองมี 2 ประเภท คือ
- เส้นเลือดในสมองตีบ เรียกว่า Ischemic stroke คือ ภาวะที่เส้นเลือดในสมองตีบลง ทำให้สมองส่วนนั้นขาดเลือด
- เส้นเลือดในสมองแตก เรียกว่า Hemorrhagic stroke คือ ภาวะที่เส้นเลือดในสมองแตก มีเลือดออกมาภายในสมอง
- เส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว หรือที่เรียกว่า Transient Ischemic Attack (TIA) คือ ภาวะที่เส้นเลือดสมองตีบลงแต่เป็นเพียงชั่วคราว อาการจะหายไปได้เองในช่วง 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองแบบถาวรหากไม่ได้รับการรักษา
- โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉิน หากพบว่ามีใครใกล้ตัวมีอาการทางระบบประสาทได้แก่ หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ และแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที หรือติดต่อโทรศัพท์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669
- จดจำเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะตั้งแต่ระยะเวลาที่มีอาการจนถึงพบแพทย์ หากอยู่ในช่วง 3 ชั่วโมง ถึง 4 ชั่วโมง 30 นาที มีโอกาสที่จะได้รับยาสลายลิ่มเลือด เพื่อทำให้ลิ่มเลือดสลายไป และสมองจะกลับมาทำงานได้สมบูรณ์เกือบปกติ
- หากผู้ป่วยมีอาการในช่วง 4 ชั่วโมง 30 นาที ถึง 6 ชั่วโมง จะมีการรักษาด้วยการใส่สายสวนไปที่หลอดเลือดในสมอง และนำลิ่มเลือดออกมา ซึ่งจะทำให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ แต่การรักษาด้วยการใช้ยาสลายลิ่มเลือดและการใส่สายสวนเอาลิ่มเลือดออกนั้น ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคน จะขึ้นความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ และตัวของผู้ป่วยเอง โดยพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์
- การรักษาโรคเส้นเลือดสมองแตก ทำได้โดยการผ่าตัด และรักษาเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- เราสามารถป้องกันได้ไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดทานอาหารเค็ม อาหารไขมันสูง อาหารรสหวาน ลดความอ้วน งดสูบบุหรี่ เป็นต้น
- หลังการรักษา ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง บริเวณของสมองที่ขาดเลือด ความรุนแรงของตัวโรคก่อนรักษา การตอบสนองของยาแต่ละบุคคล รวมถึงความสม่ำเสมอของการกายภาพบำบัด
อาการโรค stroke
โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรค Stroke คือ ภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป เกิดอาการทางระบบประสาทผิดปกติได้ เช่น แขนขาข้างใดข้างหนึ่งไม่มีแรง ยกแขนหรือขาข้างนั้นไม่ขึ้น ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด ซึม สับสน หมดสติรวมไปถึงมีอาการชักเกร็ง ก็อาจมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองได้
เมื่อสมองขาดเลือด จะทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้นเสียไป
โรคหลอดเลือดสมอง มีกี่ประเภท
โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคสโตรก เป็นคำรวมๆ ที่ใช้เรียกโรคที่ทำให้สมองได้รับเลือดได้ไม่พอ แต่จริงๆแล้ว สาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจะทำให้โรคหลอดเลือดสมองนั้นสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยอีก 2 ประเภท ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) คือภาวะที่เส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เลี้ยงไปเลี้ยงสมองส่วนที่เส้นเลือดตีบไม่พอ ก็จะสูญเสียการทำงานในส่วนที่สมองสั่งการส่วนนั้นไป
- โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) คือภาวะที่เส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นก้อนเลือดอยู่ภายในสมอง เมื่อมีก้อนเลือดขนาดใหญ่โผล่อยู่ภายในสมองที่ห่อหุ้มด้วยกะโหลกซึ่งมีเพียงช่องว่างเหลือเพียงเล็กน้อย จะทำให้เกิดความดันอัดอั้นอยู่ภายในสมอง เมื่อความดันมากขึ้น เลือดจะเข้าไปเลี้ยงในสมองไม่ได้ ก็จะเกิดอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอได้
โรคหลอดเลือดสมองทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ เส้นเลือดในสมองตีบ และเส้นเลือดในสมองแตก
นอกจากนี้ ยังมีโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient ischemic attack) คือภาวะที่มีเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่หลอดเลือดในสมองมีการอุดตันบางส่วนแล้ว และในบางช่วงเวลาเส้นเลือดอาจจะตีบมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการของโรคหลอดเลือดในสมองตีบชั่วคราว เมื่อหลอดเลือดในสมองไม่ตีบแล้ว เลือดกลับไปเลี้ยงได้ตามปกติ จะทำให้อาการหายไป อาการมักจะหายได้เองในช่วง 24 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามนั่นถือว่าเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นโรคหลอดสมองแบบถาวรได้ หากมีอาการลักษณะของโรคหลอดเลือดสมองเป็นๆหายๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทำการตรวจรักษาเพื่อไม่ให้เป็นถาวร
และยังมีบางภาวะที่ทำให้มีอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งเราจะเรียกภาวะนั้นว่าโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน แต่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากสาเหตุอื่น (Secondary stroke) เช่นภาวะความดันในเลือดต่ำมากๆ ก็อาจทำให้มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่หากรักษาที่ต้นเหตุจนหายแล้ว อาการโรคหลอดสมองก็มักจะหายไป
ความดันโลหิตต่ำมากๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และมีอาการโรคหลอดเลือดสมองได้
อาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีอะไรบ้าง
เมื่อมีภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมองส่วนที่ขาดเลือดก็จะไม่สามารถสั่งการระบบต่างๆในร่างกายได้ ซึ่งโรค stroke อาการส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนที่สมองส่วนนั้นควบคุมที่ผิดปกติไป โดยโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่สำคัญๆ ที่ต้องจดจำไว้ คือ หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ และแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นเฉียบพลัน คือ จู่ๆ ก็มีอาการขึ้นมาเองโดยไม่มีสัญญาณนำก่อนหน้า หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำส่งมาโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยทันที
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจเป็นอาการ Stroke ได้แก่ อาการชาตามใบหน้าหรือแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแรงทั่วร่างกาย ซึม หมดสติ ชักเกร็ง ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนมาก สะอึกแบบไม่สามารถหายได้เอง ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม จึงจะสามารถบอกได้ว่าเป็นโรค Stroke หรือไม่
อาการที่กล่าวไว้ข้างต้น เจอได้ส่วนใหญ่ในอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ส่วนอาการเส้นเลือดในสมองแตกจะมีความแตกต่างเล็กน้อย คือ มักพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะมากกว่าโรคเส้นเลือดในสมองตีบ อาการคลื่นไส้และอาเจียนพุ่งก็จะพบได้มากกว่า ส่วนอาการระบบประสาทอื่นๆ ก็ยังสามารถพบได้ แต่พบในสัดส่วนที่น้อยกว่า
อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญที่ต้องจดจำ
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร
เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองมี 2 ประเภทย่อย กลไกการเกิดโรคทั้งสองนี้ก็จะมีความแตกต่างกัน คือ
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ
เกิดจากท่อในหลอดเลือดแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ ตัวโรคเส้นเลือดในสมองตีบ อาการจะเด่นชัดในเรื่องระบบประสาทตามสมองส่วนที่เลือดเลี้ยงไม่ได้ ซึ่งสาเหตุของหลอดเลือดแคบลงมาได้จาก 2 สาเหตุ
- สาเหตุแรกคือผนังภายในหลอดเลือดหนาขึ้น และมักมีการสร้างลิ่มเลือดทำให้เกิดการอุดตันมากยิ่งขึ้น (Thrombotic stroke) เปรียบเสมือนกับมีถนนที่มีการก่อสร้างอยู่ข้างทาง ซึ่งทำให้การจราจรติดขัดอยู่แล้ว แต่หากวันดีคืนร้ายรถเครนก่อสร้างล้มถล่มมาที่ถนนซึ่งจะทำให้การจราจรหยุดชะงักทันที ปัจจัยเสี่ยงที่ทำเกิดเส้นเลือดสมองตีบนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดอักเสบ ภาวะเลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
- อีกสาเหตุเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอะไรสักอย่าง (ส่วนใหญ่จะเป็นลิ่มเลือดที่มาจากส่วนอื่นๆ ของร่างกาย) วิ่งเข้ามาอุดตันเส้นเลือดในสมอง (Embolic stroke) เปรียบเสมือนกับถนนรถวิ่งปกติ แต่มีรถบรรทุกคันใหญ่มากวิ่งเข้าไปทางถนนที่แคบกว่า ทำให้ไม่สามารถวิ่งไปต่อได้ การจราจรก็จะกลายเป็นอัมพาตทันที อาการเส้นเลือดสมองตีบจากสาเหตุนี้อาจมีลักษณะอาการแค่บางส่วนของร่างกาย หรืออาจจะหลายๆส่วนของร่างกายที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันเส้นเลือดขนาดเล็กแต่หลายตำแหน่งตามที่ลิ่มเลือดวิ่งไปอุดตันนั่นเอง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอมอุตันเส้นเลือด เช่น ก้อนที่ลิ้นหัวใจที่เกิดจากผนังหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดที่มาจากหัวใจจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกในหัวใจ ก้อนไขมันในหลอดเลือด เป็นต้น
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบมาจากผนังภายในหลอดเลือดที่หนาขึ้น (Thrombotic) หรือสิ่งแปลกปลอมไปอุดกั้นเส้นเลือด (Embolic) ก็ได้
โรคเส้นเลือดในสมองแตก
เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก เลือดจึงทะลักออกมา ทำให้เลือดคั่งในในสมอง เกิดการทำลายเซลล์สมองบริเวณที่มีเลือดคั่งกดทับ นอกจากนี้ยังทำให้ความดันในสมองสูงขึ้น เลือดดำในสมองไม่สามารถไหลออกจากสมองได้ เกิดสมองบวม ซึ่งเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้เลย ปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดในสมองแตก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดแข็งตัวยาก เส้นเลือดเชื่อมกันผิดปกติ รวมไปถึงการใช้โคเคนก็ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ง่ายมากขึ้น
หากเส้นเลือดในสมองแตกในบริเวณใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) ก็จะทำให้มีอาการคล้ายกับเส้นเลือดสมองแตกภายในเนื้อสมองเช่นเดียวกัน โดยถ้าใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางมีเส้นเลือดในสมองแตก อาการจะเด่นในเรื่องปวดศีรษะแบบรุนแรงทันที เหมือนสายฟ้าฟาดกลางศีรษะ (Thunderclap headache) หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะแบบสัญญาณเตือนมาก่อนได้
เส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เกิดเลือดคั่งในสมองและความดันในสมองสูงจนเกิดอันตรายแก่เนื้อสมองได้
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองทำอย่างไร
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า หากมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที จะนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง หรือโทรศัพท์หาการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ก็ได้ เพราะเวลาที่เสียไปเท่าไร คือสมองที่เสียหายมากขึ้นเท่านั้น (Time is brain) ซึ่งเป้าหมายการรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง คือ การทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องระบบประสาทในอนาคต
เมื่อพบแพทย์แล้ว อันดับแรก แพทย์จะวินิจฉัยแยกโรคระหว่างโรคเส้นเลือดในสมองตีบ และโรคเส้นเลือดในสมองแตก ให้ได้ก่อน เนื่องจากแต่ละโรคมีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยใช้วิธีเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัย
ต่อมาหากแพทย์พบว่าเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จะมีช่วงเวลาสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่เรียกว่า ช่วงเวลาทอง (Golden period) คือ 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่เริ่มมีอาการจนถึงการรักษา (อาจยาวได้ถึง 4 ชั่วโมง 30 นาที) หากผู้ป่วยมาในช่วงเวลานี้ จะมีโอกาสได้รับยารักษาสลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) ซึ่งเป็นยาที่ทำให้ลิ่มเลือดสลายออกไปได้ เลือดจะกลับเข้าไปเลี้ยงสมอง และการทำงานของสมองก็จะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ หรือเกือบปกติมากที่สุด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะประเมินการให้ยาสลายลิ่มเลือดก่อน เพราะบางกรณีถึงแม้จะมาโรงพยาบาลในช่วงเวลา 3 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถให้ยาได้อยู่ดี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองเพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
หากมีอาการเกิน 4 ชั่วโมง 30 นาทีแล้ว แพทย์จะไม่เลือกการให้ยาสลายลิ่มเลือดเป็นวิธีการรักษา ซึ่งบางโรงพยาบาลสามารถใส่สายสวนเส้นเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดในสมองออกได้ (Endovascular therapy) โดยสามารถทำได้หากมีอาการในช่วง 4 ชั่วโมง 30 นาที ถึง 6 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่เริ่มมีอาการจนถึงการรักษา แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่พร้อม จึงจะสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้
การรักษาเส้นเลือดสมองด้วยการใส่สายสวนไปในเส้นเลือดเพื่อนำลิ่มเลือดออก ต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แล้วถ้าเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้ว การรักษาจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องตอบว่าจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ให้มีความเสียหายของสมองไปมากกว่านี้ โดยนอนโรงพยาบาล ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ยาละลายลิ่มเลือด สังเกตอาการทางระบบประสาท และการรักษาที่สำคัญที่สุดคือการกายภาพบำบัด ถึงแม้ว่าการรักษาแบบประคับประคองจะไม่ทำให้ระบบประสาทของร่างกายกลับมาเป็นปกติ 100% ได้ แต่อย่างน้อยก็อาจสามารถทำให้ดีขึ้นเพียงพอต่อการใช้ชีวิตต่อไปได้
ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแตก จะให้การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมระบบประสาท โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนี้จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อนำเลือดคั่งออก การเอาเลือดคั่งออกจะช่วยลดความดันที่อยู่ในศีรษะ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองกลับไหลเวียนได้ปกติ หลังจากการผ่าตัด ก็จะต้องมีการกายภาพบำบัด และรับยารักษาเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกในอนาคต
เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการทางระบบประสาท ให้ยาและสารน้ำ
ผลของการรักษา สามารถรักษาจนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่
การรักษาจะออกมาดีได้หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง บริเวณของสมองที่ขาดเลือด ความรุนแรงของตัวโรคก่อนรักษา หากผู้ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แล้วมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ได้รับยาสลายลิ่มเลือดทันท่วงที เลือดสามารถกลับไปเลี้ยงสมองได้ ผลที่ได้มักจะออกมาดีหากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน อาการผู้ป่วยจะกลับมาได้เกือบปกติ แต่ถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไป การกลับคืนมาของระบบประสาทก็จะน้อยกว่ามาก นอกจากนี้การตอบสนองของยาแต่ละบุคคล รวมถึงความสม่ำเสมอของการกายภาพบำบัดก็จะมีผลอย่างมากต่อผลการรักษา
การกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญ หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบประสาทกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น
หลังการรักษาแล้ว จะกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่
สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เราเรียกภาวะนี้ว่า โรคหลอดเลือดสมองที่กลับมาเป็นซ้ำ (Recurrent stroke) สามารเป็นทั้งเส้นเลือดตีบและแตก ผู้ที่เป็นเส้นเลือดตีบก็อาจกลายเป็นเส้นเลือดแตกในอนาคตได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ คือ การไม่รับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่ได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคอื่นๆ รวมไปถึงหากมีโรคใหม่ที่ทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้มากขึ้น
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร
การไม่เป็นโรค คือลาภอันประเสริฐ เป็นสุภาษิตที่เหมาะสมที่สุดที่จะตอบคำถามของเรื่องนี้ เพราะตัวโรคหลอดเลือดสมองนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งหากดูแลตนเองไม่ให้เป็นโรคเหล่านี้ได้ จะป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 90% เลยทีเดียว
คำแนะนำการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลและไขมันสูง งดการสูบบุหรี่ และการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนลืม เพราะถ้าเรารู้ว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรได้เร็วเท่าไร ก็จะได้รับการรักษาเร็วเท่านั้น โอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองก็จะน้อยลงไปนั่นเอง
การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตได้
สรุป โรคหลอดเลือดสมอง ภัยร้ายที่อาจอยู่ใกล้ๆคุณ
การสูญเสียการทำงานของสมองไปก็เหมือนกับการเสียผู้นำของร่างกาย อวัยวะต่างๆของร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองทำงานได้ไม่เป็นปกติ โรคนี้มีกลไกการเกิดได้ทั้งเส้นเลือดแตก และเส้นเลือดตีบ แต่ทั้งสองโรคก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้เช่นกัน หากมีอาการทางระบบประสาทเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพราะหากเสียเวลามากเกินไป สมองก็จะเสียหายมากขึ้น นอกจากการรักษาแล้ว
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ ก็เป็นอะไรที่สำคัญมาก การรักษาสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ปราศจากโรคประจำตัว การออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานของที่เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งดีๆ ที่ถ้าใครทำมันได้ ผลตอบแทนคือการไม่มีโรคภัยก้าวเข้าใกล้ตัวนั่นเอง