ประเด็นเรื่องโรคระบาดยังคงมีมาต่อเนื่อง โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานรก็เป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง เนื่องจากเกิดการระบาดไปหลายประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เพราะเรารู้จักโรคนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 แล้ว ในบทความนี้มี 10 คำถามน่ารู้ ของโรคฝีดาษลิง เพื่อให้รู้จักกับโรคนี้มากขึ้น รวมไปถึงการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับโรคระบาดนี้ให้เกิดความสูญเสียอย่างน้อยที่สุด
สารบัญเนื้อหา
ฝีดาษลิงคืออะไร?
ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox คือ โรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ ที่มีผื่นเหมือนโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสออโธพอกซ์ (Orthopox virus) ที่อยู่ในสกุลเดียวกับไวรัสของโรคฝีดาษ อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิงมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษ และความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้น้อยกว่าโรคฝีดาษมาก
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง
แล้วโรคฝีดาษคืออะไร?
ส่วนโรคฝีดาษเป็นโรคติดเชื้อไวรัส ที่ทำให้มีไข้ ผื่น ตุ่มหนองตามร่างกายได้ มีความรุนแรง อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30 – 50 % โรคฝีดาษไม่พบในมนุษย์ตั้งแต่ปี 1978 แล้ว เนื่องจากมีการระดมการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับมนุษย์ทุกคน โดยการให้วัคซีนหรือที่เรียกว่าการปลูกฝีนั่นเอง แม้ว่าปัจจุบันจะหยุดการให้วัคซีนโรคฝีดาษไปแล้ว แต่ก็ยังไม่พบการรายงานการติดเชื้อโรคฝีดาษอีกเลย
โรคฝีดาษลิงแพร่เชื้อได้อย่างไร?
การแพร่เชื้อของไวรัสโรคฝีดาษลิง สามารถทำได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง หรือถูกกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนนั้นน้อย ต้องแพร่ผ่านละอองสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจใหญ่ๆ อยู่ใกล้ชิดกัน สัมผัสผื่น มีเพศสัมพันธุ์กัน หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกัน PPE ในระยะน้อยกว่า 2 เมตร นานมากกว่า 3 ชั่วโมง เป็นต้น
การแพร่เชื้อของโรคฝีดาษลิง
ระยะฟักตัวของโรคฝีดาษลิง คือเท่าไร?
หากสัมผัสผู้ป่วยได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัวของเชื้อ เกิดอาการของโรคฝีดาษลิงโดยทั่วไปตั้งแต่ 5 ถึง 13 วัน แต่สามารถเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 4 ไปจนถึง 21 วันหลังสัมผัสเชื้อ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 8.5 วัน หากถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ระยะฟักตัวจะสั้นกว่าถูกสัตว์ที่มีเชื้อข่วน
โรคฝีดาษลิง อาการแสดงอย่างไร?
อาการโรคฝีดาษลิงที่พบได้ ได้แก่ ไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย หนาวสั่น ปวดศีรษะ โดยฝีดาษลิงผื่นจะเป็นลักษณะเริ่มจากตุ่มเล็กๆ ก่อน เกิดในช่วง 1 – 4 วันหลังมีไข้ ซึ่งจะอยู่ตามตัวแล้วไปที่แขนขา ต่อมาจะใหญ่ขึ้นเป็นตุ่มน้ำขนาดประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร และจากตุ่มน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง มีรอยบุ๋มตรงกลาง สุดท้ายสามารถแตกออกและตกสะเก็ด ระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของผื่นจะอยู่ในช่วง 2 – 4 สัปดาห์ นอกจากนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบาก และอ่อนเพลียได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10 %
อาการของโรคฝีดาษลิง
วินิจฉัยโรคฝีดาษลิงได้อย่างไร?
การวินิจฉัยสามารถทำได้ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้โดยการส่งตรวจชิ้นเนื้อ ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนหาไวรัส การทำ PCR เพื่อหาเชื้อพันธุกรรมของไวรัส หรือสามารถตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ส่วนโรคอื่นๆ ที่ต้องนึกถึงหากมีอาการไข้ และผื่นตุ่มน้ำตามร่างกาย คือ โรคอีสุกอีใส ความแตกต่างคือ ลักษณะโรคอีสุกอีใสตุ่มน้ำจะไม่ได้โตขึ้นพร้อมๆ กัน บางอันเป็นตุ่มใส บางอันเป็นตุ่มหนอง ส่วนโรคฝีดาษลิงจะมีลักษณะเหมือนกันทุกตุ่ม
โรคฝีดาษลิง รักษาอย่างไร?
การรักษา โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาจะเป็นไปตามอาการ ยาต้านไวรัสที่อยู่ในระหว่างการศึกษาที่อาจใช้รักษาโรคฝีดาษลิงได้คือ Tecovirimat ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคฝีดาษในสหรัฐอเมริกา
เราจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อฝีดาษลิงได้อย่างไร?
การป้องกันโรคฝีดาษลิง ต้องแยกตัวผู้ติดเชื้อไม่ให้สัมผัสกับคนทั่วไป และรีบนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลทันที หากมีการสัมผัสผู้ติดเชื้อระยะน้อยกว่า 1 เมตรโดยที่ไม่ได้สวนอุปกรณ์ป้องกัน PPE ถือเป็นผู้ป่วยเสี่ยงสูง ต้องกักตัว สังเกตอาการ และพิจารณาให้วัคซีนเพื่อหลังการสัมผัสเชื้อร่วมด้วย โดยโรคฝีดาษลิงจะมีวัคซีนให้ใช้ป้องกันอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับโรคโควิด 19 ที่พัฒนาวัคซีนขึ้นมาใหม่
การฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษได้
ฝีดาษลิงระบาดอยู่ประเทศไหนบ้าง?
ตั้งแต่การหยุดให้วัคซีนโรคฝีดาษ การติดเชื้อของโรคฝีดาษลิงก็มีมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพบในทวีปแอฟริกากลางและตะวันตก อย่างไรก็ตาม เคสที่เกิดประเทศอื่นนอกจากแอฟริกา ก็ล้วนมาจากนักเดินทางหรือสัตว์นำเข้าจากทวีปแอฟริกาทั้งสิ้น
โรคฝีดาษลิงน่าเป็นห่วงมากน้อยแค่ไหนในขณะนี้?
ซึ่งการระบาดในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายในยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย โดยการสอบสวนโรคในประเทศอังกฤษพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายนี้เดินทางจากประเทศไนจีเรีย ก่อนจะพบผู้ติดเชื้อมากเป็น 20 ราย ส่วนโรคฝีดาษในไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งกำลังเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย