ปวดหัวไมเกรน คือ โรคชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ลักษณะอาการเด่นของโรคชนิดนี้ คือ ปวดศีรษะ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือสัมผัสไวผิดปกติต่อเสียงหรือแสง ในบางคนอาจมีปัญหาเรื่องไมเกรนโดยที่ไม่ได้มีอาการปวดหัวเป็นอาการเด่น หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เช่น มีปัญหาเวียนศีรษะ ปวดบริเวณใบหน้า ปวดหู หูอื้อ หรือมีปัญหาเรื่องการได้ยินเสียงเพียงอย่างเดียว

            การป้องกันรักษาอาการปวดหัวไมเกรนที่ดีที่สุด คือ การเข้าใจในธรรมชาติของโรค ลองมาทำความรู้จักอาการปวดหัวไมเกรน ค้นหาสาเหตุ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ และทำความรู้จักกับยาระงับปวด และยาที่ช่วยป้องกันการเกิดอาการ

ปวด ศีรษะ ไมเกรน

ปวดหัวไมเกรน เป็นอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตค่อนข้างมาก มักพบในคนวัยทำงาน เนื่องจากมักเป็นช่วงที่มีความเครียดสะสมสูง

สารบัญเนื้อหา

ปวดหัวไมเกรนพบบ่อยแค่ไหน

            ปวดหัวไมเกรน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยของอาการปวดหัวทั่วไป ในคนอเมริกาพบได้ประมาณ 13 คน ใน 100 คน ซึ่งมากพอๆ กับผู้ป่วยโรคเบาหวานรวมกับผู้ป่วยโรคหอบหืด โดยยังไม่นับรวมผู้ที่ไม่ได้มีอาการปวดหัวเป็นอาการเด่น

            อาการปวดหัวไมเกรน สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ช่วงที่มักพบได้มากสุด คือ เพศหญิงอายุ 35 ปีพบได้ถึงประมาณ 28% โดยทั่วไปไมเกรนมักเป็นในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า ช่วงอายุที่พบได้บ่อย คือ ช่วงอายุตั้งแต่ 30-50 ปี ปวดหัวไมเกรนสามารถพบได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก

ปวดหัวไมเกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

            สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลักฐานเชื่อว่าปวดหัวไมเกรนเกี่ยวข้องกับตัวรับสัญญาณในสมองแต่กำเนิด ที่ทำให้เซลล์สมองไวต่อสิ่งเร้าบางอย่างมากเกินไป สิ่งเร้าดังกล่าวนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ที่พบได้บ่อยเช่น เสียงดัง แสงสว่างจ้า ท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกาย กลิ่นฉุนบางชนิด หรือการถูกกระตุ้นจากความเจ็บปวดบางอย่าง สิ่งเร้าเหล่านี้จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการปวดหัวไมเกรนได้ในเวลาไม่กี่นาที

            ในระหว่างที่อาการไมเกรนกำเริบ จะตรวจพบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในเนื้อเยื่อสมอง อันเป็นผลมาจากตัวรับสัญญาณ และประตูที่คอยควบคุมเกลือแร่ของเซลล์ เกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน

            กระแสไฟฟ้าในสมองที่ผิดปกติในตำแหน่งต่างๆ ของสมอง จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน และอาการแสดงอื่นๆ แตกต่างกันไป เช่น หากเกิดบริเวณสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการมองเห็นจะทำให้มองเห็นแสงสว่างวาบผิดปกติ เห็นจุดดำ เห็นเส้นแสงผิดปกติได้ หรือหากเกิดบริเวณขอบสมองอาจทำให้เกิดอาการงุนงง พูดไม่ออก ชา หรืออ่อนแรง อาการผิดปกติต่างๆ นั้นมักเกิดช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 20 นาที

            สำหรับเรื่องการหดขยายตัวของเส้นเลือดที่ผิดปกตินั้น เชื่อว่าอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในสมองที่เป็นตัวกระตุ้น

            อีกสันนิษฐานของการเกิดอาการไมเกรน คือ การปล่อยสารสื่อสัญญาณที่ผิดปกติจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 หรือเส้นประสาทใบหน้า โดยเชื่อว่าเส้นประสาทนี้จะหลั่งสารสื่ออักเสบออกมาสู่เนื้อเยื่อรอบๆ มีสารน้ำรั่วออกจากเส้นเลือด ทำให้เนื้อเยื่อเหล่านี้เกิดการบวม และเกิดอาการปวดหัวตุ้บๆ อาการที่พบขึ้นกับตำแหน่งที่ผิดปกติของเส้นประสาท เช่น หากเกิดบริเวณไซนัส อาจไม่ได้ทำให้เกิดอาการปวดหัว แต่จะทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเกิดอาการคล้ายไซนัสอักเสบ โดยโพรงไซนัสจริงๆ ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ

สาเหตุ ปวด ไมเกรน

เชื่อว่าความผิดปกติของการส่งสัญญาณในสมองของแต่ละคนที่อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน

ปัจจัยที่อาจกระตุ้นอาการปวดไมเกรน

มีหลายปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรน ได้แก่ อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมต่างๆ 

ปวดหัวไมเกรน เกิดจาก

มีปัจจัยมากมายหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน โดยปัจจัยเหล่านี้ในแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ปัจจัยด้านอาหาร

            ปัจจัยด้านอาหาร มีอาหารกว่าหลายร้อยชนิดที่อาจเกี่ยวกับอาการปวดหัวไมเกรน โดยอาหารที่กระตุ้นนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาการปวดหัวไมเกรนอาจเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจเกิดขึ้นช้าเป็นเวลาหลายวันหลังกินอาหารเหล่านั้นได้

            อาหารที่อาจเป็นสาเหตุ อาจแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. ของหมักดอง เช่น ไวน์แดง ชีส ยีสต์ในขนมปังหรือโยเกิร์ต
  2. อาหารที่มีสารที่อาจกระตุ้นการทำงานของสมอง เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของสารถนอมอาหาร

            อย่างไรก็ดี บางคนการกินอาหารบางอย่างร่วมกันจึงทำให้ปวดหัวไมเกรนกำเริบได้ แต่กินอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น กินไวน์แดง หรือช็อกโกแลตอย่างเดียวไม่มีอาการ แต่หากกินทั้งสองอย่างพร้อมกันจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ เป็นต้น

            ยังมีอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่อาจกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรน เช่น ลูกเกด กล้วยดิบ ถั่ว แฮม ซุปกระป๋อง เค้ก ฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น ลองหยุดรับประทานอาหารที่อาจมีส่วนกระตุ้นไมเกรนของแต่ละคนสัก 2-3 สัปดาห์ แล้วอาการปวดหัวไมเกรนจะดีขึ้น

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

            สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ ตัวอย่างเช่น การได้รับกลิ่นฉุนบางชนิด กลิ่นน้ำหอม การเห็นแสงสว่างจ้า แสงจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดัง หรือแม้แต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งเย็นจัด ร้อนจัด หรือความชื้นสูง ทั้งนี้ กลไกกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด

ปัจจัยจากกิจกรรมต่างๆ

            กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอาจมีผลต่ออาการปวดหัวไมเกรนได้ โดยเฉพาะความเครียด ตัวอย่างสิ่งกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรน เช่น ความอ่อนล้าของร่างกาย การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่เป็นเวลา นอนหลับมากเกินไป หรือแม้กระทั่งการนอนหลับระหว่างวันที่สั้นเกินไป การใช้ชีวิตที่ส่งผลให้ร่างกายอยู่ในสภาวะเครียด เช่น หิว งดอาหารเช้า การออกกำกายหนักเกิน ความเจ็บปวด เป็นต้น

ปวด หัว ไมเกรน เกิด จาก

กล้ามเนื้อลำคอล้าจากการเกร็งทำงานเป็นเวลานานๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหัวไมเกรนได้

อาการปวดหัวไมเกรนเป็นอย่างไร

            ลักษณะอาหารปวดหัวไมเกรนมีได้หลากหลายรูปแบบ การบอกว่าเป็นไมเกรนหรือไม่นั้นขึ้นกับประวัติ โดยจะไม่มีความผิดปกติทางกายภาพของระบบประสาทร่วม

            อาการปวดหัวไมเกรนส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลางถึงมาก ตำแหน่งที่ปวดมักปวดหัวข้างเดียว อาจปวดไมเกรนข้างขวา หรือปวดไมเกรนข้างซ้าย หรือปวดหัวข้างขวาสลับกับปวดหัวข้างซ้ายก็ได้ และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ปวดหัวไมเกรนจะปวดทั้งสองข้าง

            อาการปวดไมเกรนลักษณะมักจะรู้สึกตุ๊บๆ ในหัว เป็นมากขึ้นเวลาเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ และอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมได้ เช่น ไม่อยากทานอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สู้แสงไม่ได้ ไวต่อเสียง หรือกลิ่นบางชนิด หรืออาจมีน้ำตาไหลผิดปกติ อย่างไรก็ดี มีลักษณะอาการที่จำเพาะกับอาการปวดหัวไมเกรนแต่พบได้น้อย คือ มีอาการเจ็บปวดอย่างมากจนทนไม่ได้เวลาแตะถูกหนังศีรษะ หรือเส้นผม

            ระยะเวลาของปวดหัวไมเกรน พบได้ตั้งแต่ 4 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง สำหรับในเด็กอาจมีอาการสั้นๆ โดยไม่มีอาการปวดหัวร่วม มีเพียงคลื่นไส้อาเจียน หรือเวียนศีรษะอย่างเดียวได้ อาการปวดหัวไมเกรนในเด็กมักปวดหัวสองข้าง ทั้งนี้ ปวดหัวไมเกรนไม่มีการตรวจพิเศษด้วยเครื่องมือใดๆ สำหรับการวินิจฉัย การตรวจพิเศษ จะใช้สำหรับการแยกสาเหตุอื่นๆ

ปวด หัว ไมเกรน คลื่นไส้

อาการของไมเกรน หลักๆ คือ อาการปวดศีรษะ ทั่งนี้ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดคอ เป็นต้น

ปวดหัวไมเกรนมีกี่ประเภท

            อาการปวดหัวไมเกรนแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ไมเกรนที่ไม่มีสัญญาณเตือน และไมเกรนที่มีสัญญาณเตือน

ไมเกรนที่ไม่มีสัญญาณเตือน (Migraine without aura)

            คือ การปวดหัวนาน 4 ชั่วโมงถึง 3 วัน, มีอาการคลื่นไส้/อาเจียน หรือร่วมกับสัมผัสไวต่อแสงหรือเสียง, ลักษณะอาการปวดตุ๊บๆ ปวดหัวข้างเดียว อาการปวดถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมทางกายภาพ

ไมเกรนที่มีสัญญาณเตือน (Migraine with aura)

            ไมเกรนประเภทนี้จะมีอาการบางอย่างก่อนปวดหัวไมเกรน เช่น รู้สึกชา เจ็บเหมือนถูกเข็มแทง เห็นแสงผิดปกติ หรือจุดดำ ไมเกรนชนิดนี้พบน้อยกว่าแบบแรก ลักษณะสัญญาณเตือนมักมีอาการมากกว่า 4 นาที อาจมี 2 สัญญาณเตือนต่อเนื่องกัน, แต่ละสัญญาณเตือนมีอาการไม่เกิน 60 นาที, มีอาการปวดศีรษะตามมา 60 นาทีหลังมีสัญญาณเตือน

ปวดหัวไมเกรนเป็นยังไง

บางคนอาจมีสัญญาณเตือนก่อนปวดหัวไมเกรนได้ เช่น เห็นแสงผิดปกติ หรือมีความรู้สึกแปลกบางอย่างก่อนเกิดอาการ

ปวดหัวไมเกรน วิธีแก้ทำอย่างไร

            การแก้อาการปวดหัวไมเกรน แบ่งเป็นแก้โดยการไม่ใช้ยา และการใช้ยา การแก้ไขโดยไม่ใช้ยา ถือเป็นวิธีที่ดี ไม่เพียงสามารถลดโอกาสการเกิดอาการซ้ำ ยังลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้อีกด้วย

            ปวดหัวไมเกรน วิธีแก้ คือ การหาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ลองสังเกตสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรที่อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรน เช่น หากเจอแสงจ้า หรือเสียงดังมากๆ ควรหลีกเลี่ยง เช่น ไปอยู่ในที่มืดๆ หรือสถานที่ที่สงบเงียบ จนกว่าอาการที่เกิดจะดีขึ้น แต่หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาจต้องพยายามปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต รู้จักจัดการกับความเครียด ปรับการนอนหลับ และเพิ่มเวลาสำหรับการออกกำลังกาย

            การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตที่แนะนำ เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดไมเกรน ได้แก่

  1. การนอนหลับ ควรนอนหลับให้เป็นเวลา นอนแต่พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป บางครั้งการนอนหลับระหว่างวันที่สั้นไปหรือนานไปก็ทำให้ปวดหัวไมเกรนได้
  2. ออกกำลังกาย มีการศึกษาที่พบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) หรือการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจนอย่างเป็นประจำครั้งละ 20-40 นาที มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะการออกกำลังกายแบบนี้ใช้สำหรับเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกาย
  3. การกิน ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าที่ห้ามขาด รับประทานอาหารที่สะอาด และครบ 5 หมู่
  4. ลดความเครียด แต่ละคนมีความเครียดที่แตกต่างกันไป ลองพยายามหาวิธีจัดการกับความเครียดของตนเอง
  5. ปรับท่าทางการทำงาน นั่งในท่าที่ถูกต้อง ไม่ก้มหัว หรือเกร็งท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ศีรษะล้า และกระตุ้นอาการปวดไมเกรนได้
แก้ ปวด หัว ไมเกรน

ถ้าความเครียดเป็นสาเหตุของไมเกรน การจัดการกับความเครียดก็เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการไมเกรน

ยาแก้ปวดไมเกรน

          ปวดหัวไมเกรนกินอะไรหาย เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย อย่างไรก็ตามการรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนเพื่อระงับอาการอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หากทานบ่อยมากเกินไป อาจทำให้อาการกลับมาแย่ลงและหนักขึ้นกว่าเก่าได้ ยาแก้ปวดไมเกรนอาจแบ่งได้เป็นยาแก้ปวดไมเกรนเร่งด่วน และยาสำหรับป้องกันอาการปวดไมเกรน ข้อควรระวังคือ การใช้ยาเหล่านี้มักมีผลข้างเคียง และข้อควรระวังการใช้ในแต่ละคนต่างๆ กันไป ดังนั้น ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร

ยาแก้ปวดแบบเฉียบพลัน แนะนำกินไม่เกิน 10 วัน

ตัวอย่างเช่น

  • กลุ่ม serotonin (5-HT)-receptor agonists (triptans) เช่น Sumatriptan, Zolmitriptan
  • กลุ่ม Anti-emetics เช่น metoclopramide, domperidone ใช้บรรเทาอาการในผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วม
  • กลุ่ม NSAIDs เช่น Aspirin, ibuprofen
  • ยา paracetamol

ยาป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน

            ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ชัดเจนในการใช้ การใช้ยาจะขึ้นกับความถี่ของการเกิดอาการ เช่น เป็นถี่ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อเดือนที่มีผลต่อการใช้ชีวิต, อาการปวดหัวไมเกรนที่เป็นแต่ละครั้งยาวนานกว่า 3 วัน, ต้องกินยาแก้ปวดมากกว่า 10 วันต่อเดือน หรือมีผลข้างเคียงจากการกินยาแก้ปวด

            ยาที่มีส่วนช่วยป้องกัน เช่น กลุ่ม Beta blockers (propranolol, metoprolol), calcium antagonist (flunarizine), anti-convulsants (valproic acid, topiramate), amitriptyline

            สำหรับการรักษาทางเลือกอื่นๆ ที่อาจมีส่วนช่วย เช่น การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านทางผิวหนัง transcutaneous electrical nerve stimulation (TENS), การฝังเข็ม (Acupuncture), โฮมีโอพาธีย์ (Homoeopathy), พฤติกรรมบำบัด (behavioual therapy), จิตบำบัดระงับปวด (psychological pain therapy) หรือการนวดผ่อนคลายร่างกาย

ปวดหัวไมเกรน กินอะไรหาย

ยาแก้ปวดทั่วไปสามารถแก้ปวดหัวไมเกรนเร่งด่วนได้

ปวดหัวไมเกรน กับภาวะต่างๆ

            อย่างที่กล่าวข้างต้น สาเหตุของปวดหัวไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีภาวะบางอย่างที่มักพบร่วมกับปวดศีรษะไมเกรน เช่น

ปวดหัวไมเกรน กับประจำเดือน

            การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายระหว่างมีรอบเดือน หรือหลังหมดประจำเดือน มีความสัมพันธ์กับการปวดไมเกรนได้ โดยไมเกรนที่เกิดช่วงมีประจำเดือนในผู้หญิงนั้น อาจหมายถึง การเกิดอาการปวดไมเกรนในช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือน 2 วัน และ 3 วัน หลังมีประจำเดือน อาการที่เกิดพบอย่างน้อย 2-3 รอบเดือนขึ้นไป การป้องกันบรรเทา คือ การรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน เช่น NSAIDs หรือ triptan ก่อนมีประจำเดือน 2 วัน โดยทานต่อเนื่องประมาณ 6-7 วัน

ปวดหัวไมเกรน กับคนท้อง

            ส่วนใหญ่ประมาณ 50-80% ของผู้หญิงตั้งครรภ์ พบว่าจะมีอาการปวดหัวไมเกรนจะลดลง ในขณะที่ประมาณ 8% อาการปวดหัวไมเกรนจะเป็นมากขึ้น การรักษาเบื้องต้นไม่ต่างกัน คือ การหาสาเหตุ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรน และระมัดระวังเรื่องการรับประทานยา โดยยา aspirin หรือ ibuprofen อาจใช้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดี หากมีอาการแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

ปวดหัวไมเกรน กับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

            โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ Meniere’s disease เป็นโรคของหูชั้นใน อาการคือ ได้ยินเสียงวิ๊งๆ ในหู หูอื้อ หรือเวียนศีรษะ อาการที่เกิดเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของน้ำในหู สาเหตุการเกิดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ในคนอเมริกาพบโรคนี้ประมาณ 56% ในขณะที่ไมเกรนพบประมาณ 13% แต่ในผู้ป่วยไมเกรนกว่า 85% จะมีอาการของน้ำในหูไม่เท่ากัน 2 ข้าง

            จากการศึกษาพบว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่ทำหน้าที่เลี้ยงเส้นเลือดเล็กๆ ในหูชั้นใน มีการทดลองกระตุ้นเส้นประสาทนี้ด้วยไฟฟ้า พบว่าเส้นเลือดดังกล่าวนี้เกิดการขยายตัว ร่วมกับเกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำในหูชั้นใน หากโรคไมเกรนได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น ภาวะอาการของน้ำในหูไม่เท่ากันจะดีขึ้นตามมา

ปวดหัวไมเกรน กับโรคบ้านหมุน

            ประมาณ 25% ของผู้ป่วยไมเกรนจะมีอาการบ้านหมุนร่วมด้วย อาการดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับแกนสมองที่ส่งสัญญาณผิดปกติ ทำให้ระบบทรงตัวมีปัญหา

ปวดหัวไมเกรน กับอาการปวดหู

            ประมาณ 40% ของผู้ป่วยไมเกรนมีปัญหาเรื่องปวดหู ปวดหูเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ความผิดปกติของท่อภายในหู ขากรรไกรอักเสบ หรืออาการปวดร้าวจากการเจ็บคอ ผู้ป่วยไมเกรนเหล่านี้จะดีขึ้นหากสาเหตุอาการปวดหูดังกล่าวได้รับการแก้ไข

ปวดหัวไมเกรน กับอาการโพรงไซนัสอักเสบ

            ประมาณ 45% ของผู้ป่วยไมเกรนมีอาากรเกี่ยวข้องกับโรคของไซนัส เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก อาการเหล่านี้อาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทคู่ที่ 5 ที่มีการหลั่งสารอักเสบออกมา และทำให้เกิดการสร้างเยื่อเมือกต่างๆ ภายในโพรงจมูก และโพรงไซนัส อาการปวดตื้อๆ บริเวณใบหน้าจะเกิดประมาณ 2-3 นาที หรือหลายชั่วโมงได้ และมักไม่เป็นต่อเนื่องถึงวัน หากเป็นหลายวันถึงสัปดาห์อาจเป็นโรคของโพรงไซนัส

หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการไมเกรนกำเริบมากขึ้นได้ หากอาการเป็นมาก แนะนำปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลต่อเด็กในครรภ์

บทสรุปของโรคปวดหัวไมเกรน

            ปวดหัวไมเกรน เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้มีอาการ ลักษณะอาการปวดหัวมักเป็นตุ๊บๆ ปวดหัวข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ อาจมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ในบางคนอาจมีสัญญาณเตือนเฉพาะบางอย่างก่อนมีอาการ อาการปวดหัวไมเกรนมักเกิดขึ้นเมื่อมีตัวกระตุ้นจำเพาะบางอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น การได้รับอาหารบางชนิด แสงสว่างจากจอมือถือ เสียงดัง กลิ่นฉุน หรือความเหนื่อยล้าของร่างกาย

            การรักษาป้องกันที่ดี คือ การมองหาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรน การจัดการกับความเครียด นอนพักผ่อนอย่างพอดี และการออกกำลังกาย ยาที่ใช้แก้ปวดไมเกรน รวมถึงยาป้องกันอาการปวดไมเกรนมีหลายชนิด โดยจะพิจารณาใช้ตามความจำเป็น แนะนำปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียง และข้อควรระวังการใช้ในแต่ละคนต่างๆ กันไป