เส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic stroke) เป็นหนึ่งในโรคที่พบมากที่สุด มีความรุนแรงและทำให้เกิดความสูญเสียแก่ตัวผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขทั่วโลก โรคเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นประเภทหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบแคบลงจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ ทำให้มีอาการต่างๆ ทางระบบประสาท ตั้งแต่แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาต พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว เป็นต้น โรคเส้นเลือดในสมองตีบเป็นโรคร้ายที่อาจทำให้เป็นอัมพาตถาวร ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สร้างความเสียหายแก่สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบส่วนใหญ่ หากรู้ตัวเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้ และถ้าปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี ก็อาจลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้อีกด้วย
โรคเส้นเลือดสมองตีบ หากมีอาการ ไม่ควรรอช้า รีบพาไปโรงพยาบาลโดยทันที
สารบัญเนื้อหา
ประเด็นสำคัญ ของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
- เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของสมองไม่ได้
- อาการของเส้นเลือดในสมองตีบ ที่สำคัญและพบบ่อยคือ หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงแบบฉับพลัน หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 เพื่อขอรถพยาบาลฉุกเฉิน
- การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองตีบทำได้โดยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือการทำสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง
- เวลาทองของการรักษา (Golden period) คือ ภายใน 3 ชั่วโมง ถึง 4 ชั่วโมง 30 นาที นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาได้
- หากได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป มีโอกาสที่จะเป็นอัมพาตถาวรได้
- โรคเส้นเลือดในสมองตีบ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ทานยาอย่างสม่ำเสมอ หรือดูแลตนเองไม่ดี
- เราสามารถป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆลง
เส้นเลือดของสมองมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงสมองให้ทำงานได้ตามปกติ
เส้นเลือดในสมองตีบ คืออะไร
เส้นเลือดในสมองตีบ คือ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ หากสมองขาดเลือด จะทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้นผิดปกติไป ก็จะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท หากไม่ได้รักษาหรือรักษาช้าเกินไป จะทำให้เซลล์สมองเสียหายอย่างถาวรได้ ดังนั้น การรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ เวลามีความสำคัญมาก รักษาได้เร็ว โอกาสรักษาหายเป็นปกติก็จะมากยิ่งขึ้น
เมื่อหลอดเลือดในสมองตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของสมองไม่ได้
อาการเส้นเลือดในสมองตีบ มีอะไรบ้าง
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ อาการสำคัญที่พบบ่อย ได้แก่ หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง โดยหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน จะยิ่งสงสัยโรคเส้นเลือดสมองตีบมากยิ่งขึ้น เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรติดต่อการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์โทรศัพท์ 1669 หรือไปโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยทันที
แต่อาการอื่นๆ ที่อาจเป็นอาการเส้นเลือดสมองตีบได้ ได้แก่ อาการชาตามใบหน้าหรือแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแรงทั่วร่างกาย ซึม หมดสติ ชักเกร็ง ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนมาก และสะอึกแบบไม่สามารถหายได้เอง เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้ต้องให้แพทย์ตรวจเพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไป
อาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบที่ต้องจดจำ
หากจะดูในรายละเอียดแล้ว อาการเส้นเลือดในสมองตีบนั้น จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เลี้ยงด้วยเส้นเลือดนั้นๆ ตีบ โดยจะแบ่งออกเป็น
เส้นเลือดตีบที่สมองส่วนหน้า
จะทำให้สมองส่วนหน้าขาดเลือดไป พบได้ไม่บ่อย โดยจะเกิดอาการชาและอ่อนแรงเฉพาะขาข้างใดข้างหนึ่ง แต่บริเวณหน้าและมือจะปกติ อาการอื่นๆ เช่น อาการเดินเซ เคลื่อนตัวได้ช้าลง หรือมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยพาร์กินสัน (Parkinson disorder) ได้ นอกจากนี้ยังมีอาการความจำผิดปกติ อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึม สับสน และอาจมีปัญหากลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้
เส้นเลือดตีบที่สมองส่วนกลาง
เป็นส่วนที่พบว่าตีบบ่อยมากที่สุดในโรคเส้นเลือดในสมองตีบ อาการที่พบได้คือ แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว อาการชาแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือพูดจาสับสน เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นอาการสำคัญของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ เพราะพบได้บ่อย และหากรักษาไม่ทัน จะทำให้ผู้ป่วยพิการถาวรได้
เส้นเลือดตีบที่สมองส่วนหลัง
ส่วนนี้จะควบคุมการทรงตัวและการมองเห็น ดังนั้นอาการที่พบ ได้แก่ เดินเซ เวียนศีรษะบ้านหมุน ซึม สับสน แขนขาอ่อนแรงซีกเดียว ตาพร่ามัว การมองเห็นลานสายตาหายไปครึ่งหนึ่ง และอาการปวดศีรษะ อาการเหล่านี้มักตรวจพบยาก และอาจสับสนกับภาวะอื่นๆ ได้ เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรควิงเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โรคประสาทหูอักเสบ เป็นต้น
เส้นเลือดตีบที่ก้านสมอง
สมองส่วนนี้ได้รับเลือดจากเส้นเลือดสมองส่วนหลังที่แตกแขนงออกมา อาการที่พบได้คือ แขนขาอ่อนแรงซีกเดียว เวียนศีรษะ บ้านหมุน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว และกลืนลำบาก เป็นต้น อาการที่พบได้น้อยแต่อันตรายที่สุดของเส้นเลือดตีบที่ก้านสมองคือ การเกิดภาวะล็อกอิน (Locked-in syndrome) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อมัดไหนได้เลย ยกเว้นกล้ามเนื้อตา ส่วนการทำงานสมองส่วนอื่นยังปกติอยู่ กล่าวคือผู้ป่วยจะมีความรู้สึกนึกคิดตามปกติ แต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ มีเพียงการกระพริบตาและกรอกตาที่สามารถทำได้ เสมือนร่างกายถูกล็อกเอาไว้ แต่ภายในยังทำงานได้ปกตินั่นเอง
เส้นเลือดตีบที่ก้านสมอง-ไขสันหลัง
เป็นสมองส่วนรอยต่อระหว่างไขสันหลังและสมอง มีเส้นเลือดสมองส่วนหลังอีกแขนงหนึ่งที่มาเลี้ยงสมองส่วนนี้ อาการที่พบได้แก่ อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาอ่อนแรงซีกเดียว ชาที่ใบหน้าซีกเดียว นอกจากนี้อาจพบกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner syndrome) คือ หนังตาตก รูม่านตาหด ผิวหนังที่ใบหน้าแห้งผิดปกติ และกระบอกตาดูโบ๋ลึกเข้าไปในใบหน้ามากกว่าอีกข้าง เป็นต้น
เส้นเลือดตีบที่สมองน้อย (Cerebellar stroke)
สมองส่วนนี้จะอยู่บริเวณท้ายทอยของมนุษย์ มีหน้าที่ช่วยควบคุมการทรงตัว หากขาดเลือด จะทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เดินเซ ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด บางรายอาจมีการได้ยินเสียงลดลง หรืออาจมีอาการสะอึกที่ไม่สามารถหยุดเองได้ เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเป็นอาการที่ไม่เจาะจง ทำให้การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดตีบที่สมองน้อยจะค่อนข้างยาก และการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมองอาจะมองไม่เห็นรอยโรคอีกด้วย ซึ่งหากวินิจฉัยได้ช้า อาจเกิดภาวะสมองน้อยบวมขึ้น เกิดการกดทับสมองส่วนอื่น ทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การวินิจฉัยต้องพึ่งการสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) เป็นหลัก
เส้นเลือดสมองตีบขนาดเล็ก (Lacunar infarction)
คือ มีการอุดตันของเส้นเลือดขนาดเล็กในสมอง อาจมีเพียงตำแหน่งเดียว หรือหลายๆตำแหน่งในสมองก็ได้ แต่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด อาการที่พบได้ อาจเป็นเฉพาะแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือเป็นแค่อาการชาเฉพาะแขนหรือขา เป็นต้น เส้นเลือดตีบตำแหน่งนี้อาการมักไม่รุนแรง และมีการพยากรณ์โรคที่ดีที่สุด
ส่วนต่างๆ ของสมองมนุษย์
เส้นเลือดในสมองตีบเกิดจากอะไร
โรคหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากท่อในหลอดเลือดแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ
- ผนังภายในหลอดเลือดหนาขึ้น และมักมีการสร้างลิ่มเลือดทำให้เกิดการอุดตันมากยิ่งขึ้น (Thrombotic stroke) เปรียบเสมือนกับมีถนนที่มีการก่อสร้างอยู่ข้างทาง ซึ่งทำให้การจราจรติดขัดอยู่แล้ว แต่หากวันดีคืนร้ายรถเครนก่อสร้างล้มถล่มมาที่ถนนซึ่งจะทำให้การจราจรหยุดชะงักทันที ปัจจัยเสี่ยงที่ทำเกิดเส้นเลือดสมองตีบนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดอักเสบ ภาวะเลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
- มีสิ่งแปลกปลอมอะไรสักอย่าง (ส่วนใหญ่จะเป็นลิ่มเลือดที่มาจากส่วนอื่นๆ ของร่างกาย) วิ่งเข้ามาอุดตันเส้นเลือดในสมอง (Embolic stroke) เปรียบเสมือนกับถนนรถวิ่งปกติ แต่มีรถบรรทุกคันใหญ่มากวิ่งเข้าไปทางถนนที่แคบกว่า ทำให้ไม่สามารถวิ่งไปต่อได้ การจราจรก็จะกลายเป็นอัมพาตทันที อาการเส้นเลือดสมองตีบจากสาเหตุนี้อาจมีลักษณะอาการแค่บางส่วนของร่างกาย หรืออาจจะหลายๆส่วนของร่างกายที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันเส้นเลือดขนาดเล็กแต่หลายตำแหน่งตามที่ลิ่มเลือดวิ่งไปอุดตันนั่นเอง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอมอุตันเส้นเลือด เช่น ก้อนที่ลิ้นหัวใจที่เกิดจากผนังหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดที่มาจากหัวใจจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกในหัวใจ ก้อนไขมันในหลอดเลือด เป็นต้น
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบมาจากผนังภายในหลอดเลือดที่หนาขึ้น (Thrombotic) หรือสิ่งแปลกปลอมไปอุดกั้นเส้นเลือด (Embolic) ก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient ischemic attack) คือภาวะที่มีเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่หลอดเลือดในสมองมีการอุดตันบางส่วนแล้ว และในบางช่วงเวลาเส้นเลือดอาจจะตีบมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการของโรคหลอดเลือดในสมองตีบชั่วคราว เมื่อหลอดเลือดในสมองไม่ตีบแล้ว เลือดกลับไปเลี้ยงได้ตามปกติ จะทำให้อาการหายไป อาการมักจะหายได้เองในช่วง 24 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามนั่นถือว่าเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นโรคหลอดสมองแบบถาวรได้ หากมีอาการลักษณะของโรคหลอดเลือดสมองเป็นๆหายๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทำการตรวจรักษาเพื่อไม่ให้เป็นถาวร
โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราวจะมีอาการทางระบบประสาทเพียงชั่วคราว แต่เป็นสัญญาณเตือนที่ต้องรีบพบแพทย์
การรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบทำอย่างไร
สิ่งสำคัญที่สุดคือการตระหนักรู้ให้ได้ว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเมื่อใดที่มีเส้นเลือดสมองตีบ เมื่อนั้นคือสมองเริ่มได้รับความเสียหายแล้ว และเวลาที่เสียไปเท่าไร คือสมองที่เสียหายมากขึ้นเท่านั้น (Time is brain) ดังนั้น หากสงสัยว่าใช่อาการของเส้นเลือดสมองตีบหรือไม่ ไม่ควรรอช้า ให้รีบพามาโรงพยาบาลทันที หรือโทร 1669 เพื่อเรียกระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะทำการประเมินว่ามีอาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบจริงหรือไม่ นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว สิ่งที่สำคัญในการวินิจฉัยคือการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan brain) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI brain) เมื่อทราบว่าเป็นเส้นเลือดในสมองตีบจริง ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
การทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
ถ้าถามว่าโรคเส้นเลือดในสมองตีบรักษาหายไหม สามารถตอบได้ว่า มีโอกาสหายกลับเป็นปกติได้ แต่ขึ้นกับเวลา ความรุนแรงของตัวโรค ตำแหน่งรอยโรค และสภาวะของผู้ป่วยในขณะนั้น หากผู้ป่วยมาโรงพยาบาลใน 4 ชั่วโมง 30 นาที นับตั้งแต่มีอาการ โอกาสที่จะได้รับยาสลายลิ่มเลือด แล้วอาการจะหายกลับมาเป็นปกติได้ก็จะมีมากขึ้น โดยหากมาก่อน 3 ชั่วโมงก็จะยิ่งมีโอกาสหายกลับมาเป็นปกติได้ เรียกว่าช่วงเวลาทอง (Golden period) ของการรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ อย่างไรก็ตาม การให้ยาสลายลิ่มเลือดจะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์อีกที
หากมีอาการเกิน 4 ชั่วโมง 30 นาทีแล้ว แพทย์จะไม่เลือกการให้ยาสลายลิ่มเลือดเป็นวิธีการรักษา ซึ่งบางโรงพยาบาลสามารถใส่สายสวนเส้นเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดในสมองออกได้ (Endovascular therapy) โดยสามารถทำได้หากมีอาการในช่วง 4 ชั่วโมง 30 นาที ถึง 6 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่เริ่มมีอาการจนถึงการรักษา แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่พร้อม จึงจะสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้
การรักษาเส้นเลือดสมองด้วยการใส่สายสวนไปในเส้นเลือดเพื่อนำลิ่มเลือดออก ต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แล้วถ้าเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้ว การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบหายได้ไหม ก็ต้องตอบว่า อาจไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นปกติได้ 100% ซึ่งจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ให้มีความเสียหายของสมองไปมากกว่านี้ โดยนอนโรงพยาบาล ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ยาละลายลิ่มเลือด สังเกตอาการทางระบบประสาท และการรักษาที่สำคัญที่สุดคือการกายภาพบำบัด ถึงแม้ว่าการรักษาแบบประคับประคองจะไม่ทำให้ระบบประสาทของร่างกายกลับมาเป็นปกติ 100% ได้ แต่อย่างน้อยก็อาจสามารถทำให้ดีขึ้นเพียงพอต่อการใช้ชีวิตต่อไปได้
การกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญ หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบประสาทกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น
โรคเส้นเลือดสมองตีบมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่
เส้นเลือดในสมองตีบ สามารถกลับเป็นซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ดูแลตนเอง เช่น ยังสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงตลอด โดยสามารถกลับไปเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ หรือกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตกเลยก็เป็นไปได้ ดังนั้น หากได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ต้องดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ให้กลับไปเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบได้อีก
การควบคุมความดันโลหิต การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำได้
การป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบทำอย่างไร
เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้ ซึ่งหากเรากำจัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ลง โอกาสการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบก็จะลดลงได้ 90% เลยทีเดียว การป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบได้โดย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ลดอาหารจำพวกไขมัน หรือของหวาน
- ลดความอ้วน เพราะความอ้วนเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ได้มากมาย
- งดสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่ เพราะควันบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดตีบได้เร็วมากขึ้น
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาว่ามีโรคประจำตัวซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ หากตรวจพบได้เร็ว ได้รักษาเร็ว โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก็จะน้อยลง
- รับประทานยาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคประจำตัวเช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง ต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบได้ หากเราควบคุมโรคเหล่านี้ได้ การเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบก็จะลดน้อยลงอย่างมาก
การดูแลตนเองให้สุขภาพแข็งแรงตลอด จะเป็นเกราะป้องกันระดับหนึ่งไม่ให้เกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้
สรุปเส้นเลือดในสมองตีบ รู้ตัวช้า อัมพาตถาวร
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง และมีโอกาสพบได้บ่อย เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อครอบครัว และสังคมเป็นอย่างมาก การรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบนี้ ต้องทำอย่างรวดเร็ว เมื่อรู้ว่ามีอาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบ ได้แก่ หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที การรักษาถ้ามาพบแพทย์ใน 4 ชั่วโมง 30 นาที นับแต่เริ่มมีอาการ จะมีโอกาสให้ยาสลายลิ่มเลือดและผู้ป่วยจะไม่กลายเป็นอัมพาตถาวรได้ แต่ถ้าช้ากว่านั้น แม้ว่าจะมีโอกาสรักษาด้วยวิธีอื่น แต่โอกาสที่จะร่างกายจะกลับมาเป็นปกติอาจน้อยลง และมีโอกาสที่เป็นอัมพาตถาวรได้
บทความอ้างอิง
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537333/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK556132/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532296/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4530423/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK556084/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470416/
- Tintinalli Emergency Medicine A Comprehensive Study guide 9th edeition