หากพูดถึงโรคที่หลายๆคนเคยได้ยิน และไม่อยากให้เกิดกับตัวเองหรือคนรอบข้าง โรคเส้นเลือดในสมองแตก ก็น่าจะเป็นหนึ่งในโรคนั้น ซึ่งโรคนี้มักจะเป็นขึ้นมาเฉียบพลันทันทีทันใด ส่วนใหญ่จะไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน และเมื่อมีอาการแล้วจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ถึงแม้ว่าบางรายได้รับการรักษาแล้ว ร่างกายก็อาจไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติเหมือนเดิม ดังนั้นโรคเส้นเลือดในสมองแตกเป็นโรคที่อันตรายและน่ากลัว ในบทความนี้จะมาเรียนรู้จักโรคเส้นเลือดในสมองแตกอย่างละเอียด ทั้งอาการใดที่ควรรีบไปพบแพทย์ วิธีการรักษา และวิธีการป้องกันโรคนี้
โรคเส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic stroke)
สารบัญเนื้อหา
เส้นเลือดในสมองแตก คืออะไร
โดยปกติแล้วสมองจะมีเส้นเลือดที่อยู่ภายใน ซึ่งจะแตกแขนงไปเลี้ยงส่วนต่างๆของสมอง และเนื่องจากสมองนั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญ จึงมีเส้นเลือดเลี้ยงสมองจำนวนมาก
เส้นเลือดในสมองแตก คือ โรคที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกออกมา ทำให้เกิดเลือดคั่งในสมอง หากมีเลือดคั่งแล้ว สมองบริเวณนั้นจะถูกกดทับ เกิดความเสียหาย เมื่อเลือดคั่งมากขึ้น จะทำให้ความดันในสมองจะสูงมากขึ้น เลือดไม่สามารถเข้ามาเลี้ยงได้
เนื้อสมองจะบวมและกดทับก้านสมองซึ่งเป็นบริเวณควบคุมการหายใจ หากได้รับความเสียหายร่างกายจะไม่สามารถหายใจได้ และเสียชีวิตไปในที่สุด
สมองที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เมื่อเส้นเลือดแตกจะทำให้เลือดคั่งในสมอง เกิดความเสียหายได้
เส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากอะไร
เส้นเลือดในสมองเปรียบเสมือนท่อน้ำ ที่มีเลือดอยู่ภายใน เลือดจะเคลื่อนที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของสมองได้ ต้องอาศัยแรงดันที่มาจากหัวใจและหลอดเลือด หากแรงดันภายในสูงมากเกินไป ก็อาจทำให้ท่อน้ำนั้นแตก และเลือดก็ออกมาท่วมบริเวณภายนอกได้ หากมีแรงภายนอกอะไรมากระทำที่หลอดเลือด ก็ทำให้หลอดเลือดฉีกขาด แล้วเลือดก็ออกในสมองได้ นอกจากนี้ ลักษณะหลอดเลือดเองถ้ามีความผิดปกติ ก็จะทำให้เส้นเลือดแตกได้ง่าย
สรุปสาเหตุเส้นเลือดในสมองแตก เกิดจาก
- สาเหตุภายในหลอดเลือด เช่น แรงดันภายในหลอดเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดฉีกขาดได้ ลักษณะหลอดเลือดมีความผิดปกติ ขดตัวเป็นก้อน หรือเส้นเลือดโป่งพอง ทำให้ผนังบางลง เส้นเลือดก็จะฉีกขาดได้ง่าย การแข็งตัวของเลือดยากขึ้นจากการกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ก็จะทำให้เลือดออกในสมองได้ง่าย เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ มักเกิดในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานๆ ไม่ได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันโลหิตได้ดีพอ นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุจากการใช้ยาเสพติด รวมถึงการสูบบุหรี่ ก็เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้
ความดันโลหิตสูงวิกฤต และไม่ได้รักษาเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยในโรคเส้นเลือดสมองแตก
- สาเหตุจากการบาดเจ็บของเส้นเลือดในสมอง เช่น อุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระแทกบริเวณศีรษะ ทำให้เส้นเลือดในสมองบาดเจ็บและเกิดการฉีกขาดได้ ซึ่งในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากมีการกระทบกระแทกที่สมอง จะมีความเสี่ยงที่เส้นเลือดในสมองแตกและเลือดออกในสมองได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
การบาดเจ็บของศีรษะ ทำให้เส้นเลือดในสมองฉีกขาดได้
เส้นเลือดในสมองแตก มีกี่ประเภท
ก่อนอื่น เราต้องมารู้จักส่วนประกอบที่สำคัญของสมอง ก็คือ เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) ซึ่งเยื่อหุ้มสมองเป็นส่วนที่ห่อหุ้มสมองเอาไว้ เหมือนเกราะป้องกันของสมองเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกรุนแรงต่อเนื้อสมองภายใน นอกจากนี้เยื่อหุ้มสมองมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะคอยส่งสารอาหารให้แก่สมอง และยังผลิตน้ำไขสันหลังที่ช่วยโอบอุ้มสอง ป้องกันแรงสั่นสะเทือนต่างๆ และคอยหล่อเลี้ยงทั้งสมองและไขสันหลัง
เยื่อหุ้มสมอง แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่
- เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก หรือ Dura mater
- เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หรือ Arachnoid mater
- เยื่อหุ้มสมองชั้นใน หรือ Pia mater ซึ่งเป็นส่วนที่ติดอยู่กับเนื้อสมอง
เยื่อหุ้มสมอง แบ่งออกเป็น 3 ชั้นได้แก่ Dura, Arachnoid และ Pia mater
เส้นเลือดในสมองแตกมี 4 ประเภท ขึ้นกับชั้นของเยื่อหุ้มสมองที่เส้นเลือดแตก ได้แก่
เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Epidural hemorrhage)
คือ ภาวะเลือดออกที่อยู่ภายนอกเยื่อหุ้มสมองจากการฉีกขาดของเส้นเลือด Middle meningeal artery ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่อยู่ในบริเวณนั้น เกิดได้จากอุบัติเหตุหรือมีการกระทบกระแทกบริเวณศีรษะอย่างรุนแรง มักพบว่ามีกะโหลกแตกร้าวได้ด้วย ผู้ป่วยอาจมีประวัติสลบ หรือจำเหตุการณ์ไม่ได้ชั่วครู่ขณะที่ได้รับการกระทบกระแทกบริเวณสมอง ต่อมามักจะฟื้นรู้สึกตัวดี ในระยะเวลาต่อมา อาการจะทรุดลงเนื่องจากมีความดันภายในสมองมากขึ้น อาการที่พบได้ เช่น อาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน ชักเกร็ง ซึม หมดสติ เป็นต้น
ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Epidural hemorrhage)
เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hemorrhage)
คือ ภาวะเลือดออกที่อยู่ใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Dura mater) จากการฉีกขาดของเส้นเลือด Bridging dural vein ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่อยู่ใต้ต่อเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก การฉีกขาดของเส้นเลือดดังกล่าวมักเกิดจากอุบัติเหตุของศีรษะและสมอง มีผู้ป่วยบางส่วนที่เส้นเลือดฉีกขาดเอง ผู้ป่วยมักมีอาการซึม หมดสติหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
แต่ในผู้สูงอายุหรือคนติดเหล้าเรื้อรัง มักจะมีส่วนที่สมองฟีบลง จึงมีพื้นที่ให้เลือดซึมเข้าไปได้มากกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้นหากในผู้สูงอายุหรือคนติดเหล้าเรื้อรัง หลังเกิดอุบัติเหตุอาจจะไม่มีอาการซึมหรือหมดสติทันที แต่ภายหลังอาจมีอาการปวดศีรษะ พฤติกรรมเปลี่ยนหรืออาการสับสนได้
ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Subdural hemorrhage)
เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage)
คือ ภาวะเลือดออกที่อยู่ใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (arachnoid mater) จากการฉีกขาดของเส้นเลือดที่อยู่ภายใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid vessels) ซึ่งเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางสามารถเกิดได้ทั้งจากการบาดเจ็บของเส้นเลือดจนเส้นเลือดฉีกขาด หรือมีเลือดออกได้เองจากการที่มีเส้นเลือดบริเวณนี้โป่งพองแล้วเส้นเลือดแตกก็ได้
ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage)
เลือดออกภายในเนื้อสมอง (Intraparenchymal hemorrhage)
คือ ภาวะเลือดออกที่อยู่ภายในเนื้อสมอง เกิดจากเส้นเลือดที่เลี้ยงเนื้อสมองมีการฉีกขาด สามารถเกิดได้ทั้งจากการบาดเจ็บอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณสมอง หรือจากเส้นเลือดแตกออกมาเองจากความดันโลหิตที่สูงเป็นเวลานาน มีเส้นเลือดโป่งพอง มีการเชื่อมต่อของเส้นเลือดแดงและดำผิดปกติ กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ก็เป็นสาเหตุที่เส้นเลือดบริเวณนี้แตกออกมาเองได้
ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของเลือดออกภายในเนื้อสมอง (Intraparenchymal hemorrhage)
อาการเส้นเลือดในสมองแตก มีอะไรบ้าง
โรคเส้นเลือดในสมองแตก อาการที่พบได้มากที่สุดคือ ปวดศีรษะ ซึ่งรูปแบบเฉพาะของอาการปวดศีรษะอาจพอบอกประเภทของโรคเส้นเลือดในสมองแตกได้ เช่นอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลันเป็นช่วงวินาทีแล้วหายไป บางคนอธิบายว่าราวกับโดนฟ้าผ่ากลางศีรษะ (Thunderclap headache) ก็เป็นลักษณะเฉพาะของเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางแบบที่เกิดขึ้นมาเอง (Spontaneous subarachnoid hemorrhage) หรือลักษณะอาการปวดศีรษะที่ไม่เหมือนเดิมก่อนหน้า ก็เป็นอาการเส้นเลือดในสมองแตกได้เช่นกัน
อาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน ไม่เหมือนที่เคยปวดมาก่อน ควรรีบไปพบแพทย์
อาการอื่นๆ เช่น ซึม ไม่รู้สึกตัว ชักเกร็ง เห็นภาพซ้อน ปวดคอหรือคอบริเวณด้านหลังแข็งเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียนพุ่ง เวียนศีรษะบ้านหมุน เดินเซ นั่งทรงตัวไม่ได้ แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ก็เป็นอาการที่พบได้ในโรคเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน
นอกจากนี้ หากผู้ที่เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับกระทบกระแทกบริเวณสมองอย่างรุนแรง แล้วมีประวัติสลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้ มีอาการชักเกร็ง คลื่นไส้อาเจียนมาก มีแขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ก็ต้องระวังว่ามีเส้นเลือดออกในสมองได้เช่นกัน
อาการโรคเส้นเลือดในสมองแตกที่พบได้
โรคเส้นเลือดในสมองแตกรักษาอย่างไร
หากพบว่ามีอาการของโรคเส้นเลือดสมองแตก ควรรีบพาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุด หรือโทร 1669 เพื่อเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโรคเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน
ในระหว่างรอการนำส่งไปโรงพยาบาล
1.ให้ดูแลการหายใจเป็นหลัก เพราะเมื่อมีเส้นเลือดสมองแตก อาจทำให้ผู้ป่วยซึมหมดสติ และลิ้นอาจตกปิดกั้นทางเดินหายใจได้ ปฐมพยาบาลโดยการจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคง หรือที่เรียกว่า recovery position จะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น
การทำ Recovery position โดยการให้ผู้ป่วยนอนตะแคง งอแขนทั้งสองข้าง เอามือที่อยู่ด้านบนหนุนรองศีรษะ และขาที่อยู่ด้านบนให้งอเข่า 90 องศา วางไปด้านข้าง ประคองร่างกายไม่ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำหน้า
2.หากไม่หายใจ เรียกไม่ตื่น หรือหายใจเฮือก ให้ผู้ป่วยนอนหงาย และทำ CPR โดยการกดหน้าอกด้วยความเร็ว 100 – 120 ครั้งต่อนาที โดยกดหน้าอก 30 ครั้งและช่วยเป่าปาก 2 ครั้ง
ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation)
3.หากผู้ป่วยชักเกร็ง ห้ามเอาช้อนหรือผ้าให้ผู้ป่วยกัด เพราะอาจเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือเกิดการบาดเจ็บบริเวณช่องปากเพิ่มเติมได้ วิธีการปฐมพยาบาลคือ ให้นอนตะแคง (recovery position) ที่ทำแบบเดียวกับการเปิดทางเดินหายใจ และสังเกตเวลาที่ชักเกร็งว่าเป็นลักษณะใด ระยะเวลานานแค่ไหน และควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
4.หากมีประวัติเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระแทกสมองก่อนหน้า ไม่ควรให้นอนตะแคงเพื่อทำ recovery position เพราะเสี่ยงที่เกิดการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังช่วงคอได้หากมีกระดูกหัก วิธีการที่ดีที่สุดคือไม่ขยับบริเวณศีรษะ อาจเปิดปากเท่าที่ทำได้ และรอผู้เชี่ยวชาญมาทำการรักษาต่อ
หากมีประวัติศีรษะกระทบกระแทก ไม่ควรขยับบริเวณศีรษะ เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บไขสันหลังบริเวณคอได้
เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ หากแพทย์นึกถึงโรคเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และเมื่อพบว่ามีเส้นเลือดในสมองแตกจริง ก็จะมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คือ แพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง
วิธีการรักษา จะมีตั้งแต่การให้ยาประคับประคอง ไปจนถึงการผ่าตัด โดยการผ่าตัดอาจเป็นการรักษาเพื่อระบายความดันในสมอง หรือระบายเลือดออกมาก็ได้ โดยแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทและสมองจะเป็นคนพิจารณา
การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง
โรคเส้นเลือดในสมองแตก รักษาหายไหม
โรคเส้นเลือดในสมองแตก รักษาหายไหมนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาวะเดิมผู้ป่วย อายุ ความรุนแรงของโรค ตำแหน่งที่เลือดออก รวมไปถึงระยะเวลาที่มีอาการจนถึงการรักษา แม้ว่าตัวโรคนี้จะมีความรุนแรงมาก และหากเกิดแล้วโอกาสที่จะหายขาดน้อย แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงมาก ไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว สมองอาจยังไม่เสียหายมาก โอกาสที่จะรักษาหายก็พอเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม สมองส่วนที่เสียหายไปแล้ว จะไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ จึงจำเป็นต้องกายภาพร่างกายเพิ่มเติมเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานของร่างกายกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ร่างกายกลับมาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว
ป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองแตกได้อย่างไร
โรคเส้นเลือดในสมองแตก ป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้คือ
- โรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาเป็นประจำ ลดการทานของเค็มอาหารรสจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้มาก
- สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบและแตก และยังทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย หากเลิกสูบบุหรี่ได้ จะทำให้ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ลดลง สายด่วนอยากเลิกบุหรี่ โทร 1600
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก
- ใช้สารเสพติด
- การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยควรคุมระดับให้เหมาะสมกับตัวโรคที่รักษา ซึ่งหากใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ ต้องทานยาให้ถูกต้อง ระมัดระวังตนเองไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บ ไม่ทานยาอื่นๆ ด้วยตนเองเพราะยาต้านการแข็งตัวของเลือดบางชนิดจะมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ทำให้ยาออกฤทธิ์ผิดปกติได้
- มีคนในครอบครัวที่มีประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น Polycystic kidney disease, Ehlers-Danlos syndrome, Marfan’s disease, Coarctation of aorta เป็นต้น ควรตรวจเช็คสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ แม้ว่าอาจจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางพันธุกรรมนี้ได้ แต่หากรู้ว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยง ก็จะสามารถรับรู้และทำให้ตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- สวมหมวกกันน็อกตลอดเวลาที่ขับขี่หรือโดยสารด้วยมอเตอร์ไซค์ เพราะหมวกกันน็อกช่วยซึมซับแรงกระแทก และป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของศีรษะได้มาก
การสูบบุหรี่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ หากเลิกบุหรี่ได้จะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ลง
สรุป โรคเส้นเลือดในสมองแตก ภัยร้ายที่ไม่อยากให้เกิดกับใคร
โรคเส้นเลือดในสมองแตก เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายในสมองได้มาก ก่อให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองจากความผิดปกติในหลอดเลือด มีความดันโลหิตสูงมากเกินไป หรือมีการกระทบกระแทกศีรษะแล้วเส้นเลือดฉีกขาดได้ การรักษาจำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะเป็นโรคที่รุนแรง แต่ก็มีโอกาสที่หายหรือกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ของตัวโรคและผู้ป่วยเอง สุดท้ายโรคเส้นเลือดในสมองแตกป้องกันได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง รักษาโรคความดันโลหิตสูง งดการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และทำร่างกายตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
บทความอ้างอิง
- Tintinalli Emergency medicine 9th edition
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532970/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470242/
- Advanced trauma life support : student course manual 10th edition