เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์การปวดหัวข้างขวา อาการปวดหัวข้างขวาถือเป็นอาการที่พบได้บ่อย ก่อให้เกิดความรำคาญ และความกังวลใจต่อทุกคนไม่มากก็น้อย โดยทั่วไปแล้วอาการปวดหัวที่พบมักไม่มีอันตรายรุนแรงต่อร่างกาย แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราควรไปโรงพยาบาลปรึกษาแพทย์หาสาเหตุของอาการและแนวทางการรักษา
ลองมาทำความรู้จักกับอาการปวดหัวข้างขวาว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง และอาการแบบใดที่ควรพึงระวังว่าอาจมีภาวะอันตรายรุนแรง เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของเราและคนที่รัก
ปวดหัวข้างขวา สามารถพบได้ในทุกคน ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวัยชรา โดยมากแล้วมักไม่ได้มีอันตรายรุนแรง แต่เป็นภาวะที่รบกวนคุณภาพชีวิต
สารบัญเนื้อหา
ปวดหัวข้างขวา บอกอะไร
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์การปวดหัวข้างขวา อาการปวดหัวข้างขวาถือเป็นอาการที่พบได้บ่อย ก่อให้เกิดความรำคาญ และความกังวลใจต่อทุกคนไม่มากก็น้อย โดยทั่วไปแล้วอาการปวดหัวที่พบมักไม่มีอันตรายรุนแรงต่อร่างกาย แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราควรไปโรงพยาบาลปรึกษาแพทย์หาสาเหตุของอาการและแนวทางการรักษา
ลองมาทำความรู้จักกับอาการปวดหัวข้างขวาว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง และอาการแบบใดที่ควรพึงระวังว่าอาจมีภาวะอันตรายรุนแรง เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของเราและคนที่รัก
ปวดหัวข้างขวาจากความเครียด (Tension headaches)
ความเครียดเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะในคนวัยทำงาน ลักษณะการปวดมักปวดบีบรัดที่ขมับทั้ง 2 ข้าง หรือปวดตื้อๆ หรืออาจปวดหัวข้างเดียว เช่น ปวดขมับขวาข้างเดียว เป็นต้น
ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน ทั้งจากกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ความอ่อนเพลียอ่อนล้า การอดอาหารบางมื้อ อาการปวดนี้มักไม่รุนแรง นอนพัก หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก็สามารถหายได้เอง การป้องกันไม่ให้เกิดการปวดหัวจากความเครียด คือ การรู้จักแบ่งเวลาทำงานอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดมากเกินไป
การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบ (NSAIDS) ก็ถือเป็นวิธีที่ดีในการบรรเทาอาการปวดเฉพาะหน้าได้ดี แต่หากไม่ดีขึ้นอาการเป็นมากขึ้นก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแยกสาเหตุรุนแรงอื่นๆ
ความเครียดจากการทำงานอย่างหนัก ความเครียดจากสังคม เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
ปวดหัวไมเกรน (Migraine headaches)
ปวดหัวไมเกรนมีอาการปวดหลากหลายรูปแบบ โดยมักปวดหัวข้างเดียว อาจปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างซ้าย หรือปวดหัวสองข้างสลับกันไปมาก็ได้ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของการปวดหัวไมเกรนจะปวดทั้งสองข้าง ลักษณะการปวดมักเป็นแบบตุ๊บๆ อาจมีสัญญาณเตือนของอาการบางอย่างก่อนเกิดอาการปวดหัว เช่น อาการชาตามร่างกาย มองเห็นแสงผิดปกติบางอย่างชั่วคราวก่อนมีอาการ
อาการปวดหัวไมเกรนเป็นภาวะที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนแต่เชื่อว่าเกิดการการได้รับสิ่งกระตุ้นบางอย่างที่ไปกระตุ้นการส่งสัญญาณในสมองที่ผิดปกติและกระตุ้นให้เกิดการปวดหัวตามมา เช่น เสียงดัง แสงสว่าง กลิ่น หรือความเจ็บปวดทางกายบางอย่างอื่นๆ ซึ่งต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้น การแก้ไขป้องกันคือการมองหา และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น
การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบ เป็นการแก้ไขอาการปวดเฉียบพลันได้ดี สำหรับยาป้องกันการปวดไมเกรน ไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน แต่หากมีอาการบ่อย หรือมีผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดทั่วไปก็อาจมีความจำเป็นในการรับประทาน
ปวดหัวไมเกรน มักมีอาการปวดหัวซีกเดียว เกิดจากการได้รับปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การรับประทานอาหารบางอย่าง การได้กลิ่นฉุนบางชนิด ซึ่งแต่ละคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นที่ต่างๆ กันออกไป
ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches)
เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีอาการที่รุนแรงมาก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ลักษณะอาการปวดจะเป็นๆ หายๆ มักปวดหัวข้างเดียว เช่น ปวดหัวข้างขวาปวดเบ้าตา และอาจร้าวไปบริเวณอื่นๆ ของใบหน้าและศีรษะได้ อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ เหงื่อออกเยอะผิดปกติ รู้สึกอุ่นๆที่บริเวณผิวหนัง น้ำมูกน้ำตาไหล คัดจมูกข้างเดียวกับที่เกิดอาการ กระสับกระส่าย ระยะเวลาการเกิดอาการแต่ละครั้งอาจนานได้ตั้งแต่หลักนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมงได้
การแก้ไขแบบเฉียบพลัน คือ การทานยาหรือฉีดยาแก้ปวด การมองหาสาเหตุสิ่งกระตุ้นอาการถือเป็นแนวทางป้องกันการเกิดอาการซ้ำได้ดี
ปวดหัวจากเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ
ปวดหัวจากการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น เส้นประสาทด้านหลังศีรษะอักเสบ (occipital neuralgia), เส้นประสาทบริเวณใบหน้าอักเสบ (trigerminal neurogia) ลักษณะอาการปวดจากสาเหตุนี้จะเป็นลักษณะปวดแปล็บๆ เสียวๆ คล้ายถูกไฟช็อต อาการจะเกิดขึ้นไปตามบริเวณที่เส้นประสาทนั้นๆ ไปเลื้ยง อาจปวดข้างขวา หรือข้างซ้ายข้างเดียวก็ได้
สาเหตุของการอักเสบนั้นอาจเกิดขึ้นเอง หรือเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ การรักษาคือการใช้ยาแก้ปวดปลายประสาท การรักษาที่ต้นเหตุก็มีส่วนสำคัญ เช่น การฉีดยาแก้ปวดรอบเส้นประสาท การกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัดแก้ไขกระดูกต้นคอที่อาจไปไปกดทับเส้นประสาทที่อักเสบ
อาการปวดจากปลายประสาทอักเสบบรรเทาได้ทั้งจากยาแก้ปวด และการทำกายภาพบำบัด เช่น การนวดผ่อนคลาย การออกกำลังเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อศีรษะและลำคอ
ปวดหัวซีกขวาจากสาเหตุอื่นๆ
อาการปวดหัวข้างขวายังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากที่กล่าวไปข้างต้น เช่น ปวดหัวจากโรคโพรงไซนัสอักเสบ อาการปวดหัวที่เกิดภายหลังศีรษะถูกกระทบกระแทก ภาวะกล้ามเนื้อศีรษะและลำคออักเสบ ปวดจากปัญหาฟันผุ กรามอักเสบ หรือปวดจากปัญหาเรื่องสายตา เป็นต้น การทานยาแก้ปวดถือเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ วิธีแก้ไขที่ดี คือ การแก้ไขที่สาเหตุของการเกิดอาการ
บางครั้งการมีไข้ เป็นหวัด ไม่สบาย ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกายได้
เมื่อไรที่ควรไปโรงพยาบาลปรึกษาแพทย์
แม้ว่าอาการปวดหัวโดยทั่วไปจะไม่ได้มีความอันตรายแก่ชีวิต และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ แต่ในบางกรณีที่มีสัญญาณเตือนบางอย่าง เราก็ควรไปโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาจากแพทย์
สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ ได้แก่ การมองเห็นที่ผิดปกติ พูดไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสน ไข้สูง มีประวัติศีรษะกระแทก ปวดมากขึ้นเวลามีการทำกิจกรรม อาเจียนรุนแรง ลักษณะอาการปวดที่รุนแรงสุดในชีวิต อาการไม่บรรเทาแม้ทานยาแก้ปวด หรือมีอาการบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น มะเร็ง อย่างไรก็ดีหากมีความไม่แน่ใจก็แนะนำควรไปโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย
หากคุณมีอาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย ควรไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
บทสรุปของอาการปวดหัวข้างขวา
ปวดหัวข้างขวา เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ส่วนใหญ่ต้องเคยมีอาการ สาเหตุที่พบมีได้หลายหลาย โดยลักษณะอาการปวดของแต่ละสาเหตุอาจมีอาการที่ทับซ้อนกันได้ อย่างไรก็ดีอาการปวดหัวข้างขวาโดยมากจะไม่ได้เป็นอันตรายรุนแรงต่อชีวิต และสามารถหายได้เอง การรักษาบรรเทาอาการปวดหัวส่วนใหญ่ คือ การรับประทานยาแก้ปวด สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นอาการปวดหัว นอนหลับอย่างพอดี แต่หากมีทานยาแล้วไม่ดีขึ้น อาการเกิดขึ้นบ่อย เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย ก็แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุที่อาจมีอันตรายรุนแรงต่อไป
อาการปวดหัวข้างขวาเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม แม้อาจไม่รุนแรง และหายได้เอง แต่หากมีอาการบ่อยๆ อาจสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อตนเอง และคนรอบข้างได้