อาการปวดหัว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง เช่น ปวดหัวท้ายทอย ปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างซ้าย ก่อให้เกิดความไม่สบายต่อผู้ที่มีอาการ สาเหตุของอาการปวดหัวมีมากมายหลายอย่าง ส่วนใหญ่มักเป็นลักษณะปวดหัวปฐมภูมิที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากความผิดปกติที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่ายกาย เช่น เส้นเลือดในสมองแตก การติดเชื้อในสมอง หรือก้อนเนื้องอกในสมอง
ตำแหน่งของการปวดหัว มีส่วนช่วยบอกสาเหตุของอาการปวดหัวได้คร่าวๆ อาการปวดหัวท้ายทอย หรือปวดบริเวณด้านหลังของศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปวดหัวจากความเครียด สาเหตุอื่นๆ เช่น ปวดหัวท้ายทอยจากไมเกรน, ปวดหัวท้ายทอยจากกล้ามเนื้อและข้อต่อ, ปวดหัวท้ายทอยจากเส้นประสาทด้านหลังศีรษะ, ปวดหัวจากความดันในกะโหลกศีรษะต่ำ
ลองมาทำความรู้จักกับสาเหตุของอาการปวดหัวท้ายทอยเหล่านี้ และทำความรู้จักสัญญาณอันตรายบางอย่างที่ควรต้องไปโรงพยาบาล รวมถึงแนวทางแก้ไข และป้องกันสาเหตุเหล่านี้
ปวดหัวบริเวณท้ายทอย เป็นภาวะที่รบกวนคุณภาพชีวิต พบได้ในทุกเพศทุกวัย มีสาเหตุต่างๆ มากมาย แต่ส่วนมากมักไม่มีอันตรายรุนแรง
สารบัญเนื้อหา
ปวดหัวท้ายทอยจากความเครียด (Tension headache)
เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะอาการปวดจะคล้ายมีอะไรมาบีบรัดรอบๆ ศีรษะ และลำคอ บางคนจะรู้สึกเหมือนมีสายรัดพันรอบศีรษะ ความรุนแรงมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง และอาจมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น ไม่อยากอาหาร ปวดตึงบ่า และหลังส่วนบน เป็นต้น ปวดหัวชนิดนี้ลักษณะความรุนแรงจะไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมอื่นๆ ทางร่างกาย ไม่ค่อยมีอาเจียนร่วมด้วย
สาเหตุของปวดหัวชนิดนี้ถูกกระตุ้นจากการที่ร่างกายอยู่ในภาวะความเครียด การอดนอน หรือการอดอาหารบางมื้อ การบรรเทาอาการปวดท้ายทอยจากความเครียดในเบื้องต้น คือ การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แต่หากอาการไม่ดีขึ้นอาจลองขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปวดศีรษะจากการรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป นอกจากนี้ การออกกำลัง หางานอดิเรกเพื่อลดความเครียด นอนหลับอย่างเพียงพอก็สามารถช่วยป้องกันอาการได้
การทำงานหนัก นอนหลับไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุหนึ่งของการอาการปวดหัวท้ายทอยที่มาจากความเครียดได้
ปวดหัวไมเกรน (Migraine)
ปวดหัวไมเกรน ลักษณะอาการส่วนมากมักปวดหัวข้างเดียว แต่ก็อาจพบได้ในตำแหน่งอื่นๆ ของศีรษะ หรืออาจเริ่มจากปวดหัวข้างซ้ายร้าวไปด้านหลังท้ายทอย ผู้ที่มีอาการจะรู้สึกตุ๊บๆ อยู่ในหัว อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการเตือนก่อนปวดศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุของการปวดหัวไมเกรน เชื่อว่าเกิดจากการที่สมองถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าบางอย่างอย่างเฉพาะเจาะจง โดยสิ่งเร้านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ความเครียด กิจกรรมบางอย่าง กลิ่นฉุนหรืออาหารบางชนิด ที่ทำให้ไมเกรนกำเริบ ดังนั้น การรักษาป้องกันที่ดีที่สุด คือ การมองหาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการปวดไมเกรน การกินยาเบาเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวเฉียบพลันได้
ปวดหัวไมเกรน เกิดจากปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ส่วนมากมักปวดหัวข้างเดียว และอาจร้าวไปที่ตำแหน่งด้านหลังศีรษะได้
ปวดหัวท้ายทอยจากกล้ามเนื้อและข้อต่อ (Cervicogenic headache)
ปวดท้ายทอยจากกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น ข้อต่อสันหลังส่วนคออักเสบ โรครูมาตอยด์ เส้นประสาทถูกกด หรือกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ลักษณะอาการปวดหัวชนิดนี้มักเริ่มปวดข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ปวดหัวท้ายทอยขวา หรือปวดหัวท้ายทอยซ้าย และร้าวไปศีรษะด้านบนถึงหน้าผาก หรืออาจปวดตึงร้าวไปที่ไหล่หรือแขนของข้างที่มีอาการ อาการปวดจะแย่ลงสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของศีรษะและลำคอ
การกายภาพบำบัด ถือเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาอาการปวดชนิดนี้ รวมถึงการฝึกปรับแก้ไขท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น การรักษาอื่น เช่น การรับประทานยาแก้ปวด การนวด การประคบร้อนหรือเย็นตามเหมาะสม ก็มีส่วนบรรเทาอาการได้
ท่าทางการทำงานในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่ง การยกของ จะทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อเกิดการอักเสบ และทำให้เกิดการปวดหัวท้ายทอยตามมาได้
ปวดหัวท้ายทอยจากเส้นประสาทด้านหลังศีรษะ (Occipital neuralgia)
อาการปวดหัวท้ายทอยจากเส้นประสาท เป็นการอักเสบของปลายประสาทที่เลี่ยงผิวหนังบริเวณท้ายทอย โดยอาจมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ หรือการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ที่ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบได้
ลักษณะอาการปวดจะเป็นแบบปวดจี๊ดๆ รุนแรง เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด มักเป็นข้างเดียว อาจมีอาการอื่นที่สามารถพบร่วมกันได้ เช่น อาการปวดตา การมองเห็นผิดปกติ ได้ยินเสียงวิ๊งๆ ในหู หรือรู้สึกแปลกๆ ที่บริเวณหนังศีรษะด้านหลัง
การบรรเทาอาการโดยทั่วไป คือ ยาแก้ปวดปลายประสาท เช่น Neurontin, Lyrica เป็นต้น การนวด การยืดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
การทำกายภาพบำบัด เช่น การนวด การยืดกล้ามเนื้อ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดหัวท้ายทอยจากเส้นประสาทหลังศีรษะได้
ปวดหัวจากความดันในกะโหลกศีรษะต่ำ (Low-pressure headache)
ความดันในกะโหลกศีรษะต่ำ เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังน้อยลง ทำให้เกิดอาการปวดหัว โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังของศีรษะ อาการมักแย่ลงหลังไอ จาม หรือออกกำลังกาย และอาจพบร่วมกับอาการอื่น เช่น ได้ยินเสียงวิ๊งในหู เวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อน เป็นต้น
ความดันในกะโหลกศีรษะต่ำนั้น มักเกิดตามหลังการทำหัตถการเช่น การบล็อกหลัง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีการเฝ้าระวังภาวะนี้หลังทำหัตถการ อย่างไรก็ดี อาการปวดศีรษะชนิดนี้มักจะดีขึ้นเองในเวลา 2-3 วันไปจนถึงประมาณ 2 สัปดาห์ โดยแนะนำให้นอนราบ ดื่มน้ำบ่อยๆ
หลังการทำหัตถการเจาะไขสันหลัง อาจทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะต่ำได้ และอาจเกิดอาการปวดศีรษะตามมา
ควรไปโรงพยาบาลพบแพทย์เมื่อไร
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าอาการปวดศีรษะแม้จะพบได้บ่อย แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีอันตรายรุนแรง อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบางอย่างของอาการปวดศีรษะที่อันตรายและไม่ควรมองข้าม เช่น
- อาการปวดศีรษะเป็นบ่อยมากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ลักษณะอาการปวดศีรษะรุนแรง แบบไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- อาการปวดศีรษะที่อาการเป็นมากขึ้นสัมพันธ์กับการไอ จาม หรือออกกำลังกาย
- ลักษณะอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันทีทันใด
- อาการปวดหัวที่มีลักษณะคอแข็ง ความรู้สึกตัวเปลี่ยน ไข้สูง
- มีอาการทางระบบประสาทที่ผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติ
- อาการปวดศีรษะหลังเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- ปวดศีรษะเรื้อรัง อาการไม่บรรเทาหลังรับประทานยาแก้ปวด
ลองสังเกตอาการปวดศีรษะของคุณดู หากรู้สึกปวดมากสุดในชีวิต อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีความผิดปกติอื่นร่วมที่ไม่แน่ใจ ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สรุปอาการปวดหัวท้ายทอย
อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกคน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยส่วนมากมักไม่มีอันตรายรุนแรง และหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา สำหรับอาการปวดหัวท้ายทอย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท รวมถึงความผิดปกติภายในเนื้อในสมองและไขสันหลัง การทำความรู้จักและการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้มีอาการดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ หากอาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทานยาแก้ปวดไม่บรรเทา มีความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นร่วม หรือสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
การออกกำลังกาย บริหารยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ ไม่เพียงทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ยังลดความเครียดที่เป็นสาเหตุของการปวดศีรษะหลายๆ ชนิด และยังป้องกันอันตรายจากโรคเรื้อรังที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมองอีกด้วย