กรดไหลย้อน คือ โรคของระบบทางเดินอาหารส่วนบน เกิดจากการไหลย้อนกลับของอาหาร หรือสารคัดหลั่งต่างๆ จากในกระเพาะอาหารขึ้นไปที่หลอดอาหาร และทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณกลางอก จุกแน่นหน้าอก เรอเปรี้ยว หรือคลื่นไส้อาเจียนตามมา โรคกรดไหลย้อน ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease (GERD)
โรคกรดไหลย้อนนอกจากจะรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือแม้กระทั่งมะเร็งของหลอดอาหารได้ ดังนั้น การแก้ไขและรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึงปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคกรดไหลย้อนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ลองอ่านทำความรู้จักกับโรคกรดไหลย้อนนี้กัน
กรดไหลย้อน เป็นอาการที่เกิดจากการไหลย้อนของอาหาร หรือสารคัดหลั่งต่างๆ จากในกระเพาะอาหารขึ้นไปที่หลอดอาหาร
สารบัญเนื้อหา
โรคกรดไหลย้อน สาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคกรดไหลย้อน สามารถเกิดได้จากสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากมาย หากดูตามกลไกของโรคแล้วจะเริ่มจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง ที่ปกติจะทำหน้าที่ปิดกั้นเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของอาหารที่รับประทานเข้าไป ทำหน้าที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการไหลกลับของอาหาร รวมถึงน้ำย่อยต่างๆ ที่คลุกเคล้าอยู่ในกระเพาะอาหาร กลับขึ้นไปในหลอดอาหาร
โดยปกติเยื่อบุผิวบริเวณผนังของหลอดอาหารไม่ได้มีความทนทานต่อสภาวะกรดเหมือนเยื่อบุผิวในกระเพาะอาหาร ดังนั้น เมื่ออาหารและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารย้อนกลับขึ้นไป จะทำให้ผิวเยื่อบุของหลอดอาหารเกิดการระคายเคือง ทำให้อักเสบ และอาจเกิดแผลตามมา สิ่งนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก หรืออาการอื่นๆ ของกรดไหลย้อนตามมาได้
การทำหน้าที่ผิดปกติของหูรูดที่หลอดอาหารส่วนล่าง มีผลให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน อาการเป็นอย่างไร
โรคกรดไหลย้อน มีอาการอย่างไร และอาการหนักแค่ไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดอาหาร รวมถึงระดับความสูงของการไหลย้อนในหลอดอาหาร อาการที่พบได้โดยทั่วไป คือ อาหารแสบร้อนบริเวณกลางอก (heartburn) โดยมักเกิดขึ้นหลังการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ๆ อาการดังกล่าวจะเป็นมากขึ้นหากเราก้มตัว หรือนอนลง
หากอาการเป็นมากขึ้น กรดไหลย้อนลามขึ้นไปสูงถึงบริเวณลำคอ จะทำให้เกิดอาการจุกแน่นบริเวณลำคอ มีความรู้สึกเปรี้ยวๆ ในปาก เรอเปรี้ยว หรือคลื่นไส้อาเจียนได้
อาการอื่นๆ ที่สามารถพบได้ เช่น น้ำลายมากผิดปกติ รู้สึกมีก้อนในลำคอ รู้สึกมีอะไรติดในคอ ไอเสมหะเรื้อรัง เจ็บคอ เสียงแหบ ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ หูอื้อ โดยบางอาการเหล่านี้อาจพบได้ไม่บ่อยนัก
อาการของกรดไหลย้อนขึ้นกับความรุนแรงของโรค และระดับความสูงของการไหลย้อนในหลอดอาหาร
อาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นนานแค่ไหน
โดยทั่วไปอาการของโรคกรดไหลย้อนจะดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 2-3 วัน หากได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหลายๆ คนอาจมีอาการเรื้อรังหรืออาจกลับเป็นซ้ำได้แม้หายดีแล้ว สำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนบ่อยๆ หรือกินยาแล้วยังมีอาการ อาจต้องย้อนดูว่าได้ปรับพฤติกรรมการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม และรับประทานยาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
โรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาด้วยตนเองได้อย่างไร
โรคกรดไหลย้อนสามารถบรรเทารักษาได้ด้วยตนเองเบื้องต้นโดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุกระตุ้น เพียงเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงอาหารที่จะกระตุ้นอาการ การควบคุมน้ำหนักในอยู่ในระดับเหมาะสม รวมรับประทานยาอย่างถูกต้อง ก็สามารถทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้ และยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้
การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ช่วยป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้
โรคกรดไหลย้อน ควรพบแพทย์เมื่อไร
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าโรคกรดไหลย้อนสามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการอื่นๆ ที่ไม่ชัดเจน อาจลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาการบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการจุกแน่นหน้าอกได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรืออาการอื่นๆ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่พึงระวัง ได้แก่
- น้ำหนักตัวลดผิดปกติ โดยไม่ได้ตั้งใจ
- มีปัญหาเรื่องการกลืน
- อาการเจ็บหน้าอก
- กลืนสำลัก
- ถ่ายเป็นเลือด
- อาเจียนบ่อยๆ
- มีอาการเจ็บขณะกลืน
- รู้สึกอิ่มเร็วผิดปกติ
หากมีอาการกลืนลำบาก อาเจียนมากๆ บ่อยๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
โรคกรดไหลย้อนวินิจฉัยอย่างไร
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน โดยทั่วไปจะอาศัยจากประวัติและอาการเป็นหลัก แต่หากหากแพทย์พบมีประวัติที่น่าสงสัย ไม่ชัดเจน หรือมีความผิดปกติจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น ก็อาจจำเป็นต้องมีการส่งตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อแยกโรคอื่นที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร หรืออาจมีผลข้างเคียงรุนแรงจากโรค เช่น อาการเสียงแหบ เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดผิดปกติ เป็นต้น
โรคกรดไหลย้อน โดยทั่วไปจะวินิจฉัยจากประวัติ และอาการที่เกิดขึ้น
การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Upper endoscopy)
อาจพิจารณาทำเมื่อมีสัญญาณเตือนอันตรายบางอย่าง ได้แก่ กลืนลำบาก มีภาวะโลหิตจาง น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ได้ตั้งใจ มีสัญญาณของเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือมีอาการอาเจียนซ้ำๆ บ่อยๆ นอกจากนี้จะพิจารณาตรวจในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรับประทานยารักษาอย่างเหมาะสมแล้วอีกด้วย
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนนี้ สามารถดูระดับการอักเสบของหลอดอาหาร การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวหลอดอาหาร รวมถึงสามารถเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อแยกภาวะ Eosinophilic esophagitis ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้
การตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร (Esophageal pH monitoring)
การตรวจนี้พิจารณาตรวจในผู้ที่มีอาการเรื้อรัง และได้รับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนแล้วไม่พบความผิดปกติ การตรวจชนิดนี้มีหลายวิธี เช่น การสอดสายวัดค่าความเป็นกรดในทางเดินอาหารส่วนบนเข้าไปทางจมูกค้างไว้ 24 ชั่วโมง หรือการฝังเม็ดแคปซูลที่ผนังของหลอดอาหารเพื่อตรวจดูความเป็นกรด
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน ช่วยในเรื่องการประเมินหารอยโรคในหลอดอาหารของผู้ป่วย รวมถึงสามารถเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจได้
กรดไหลย้อน รักษาอย่างไร
แนวทางในการรักษาบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนเบื้องต้น คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต สำหรับการรับประทานยาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้อาการต่างๆ ของกรดไหลย้อนบรรเทาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การรักษากรดไหลย้อนโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
กรดไหลย้อนห้ามกินอะไร
อาหารที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหาร เนื่องจากอาจกระตุ้นทำให้อาการของกรดไหลย้อนเป็นมากขึ้น ได้แก้ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ อาหารรสเปรี้ยว หัวหอม อาหารที่มีไขมันสูง ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ น้ำอัดลม เป็นต้น สำหรับกรดไหลย้อนกินอะไรหายนั้น ยังไม่มีการศึกษาชัดเจน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารครั้งละมากๆ หรือไม่ทานจนรู้สึกอิ่มเกินไป
- งดรับประทานอาหารอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน
- นอนหัวสูงอย่างน้อย 6 นิ้ว หรือนอนท่าตะแคงซ้าย ซึ่งจะสามารถช่วยลดการเกิดอาการในเวลากลางคืนลงได้
- ลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีการศึกษาพบว่ากว่า 81% ของผู้ป่วยโรคอ้วนมีอาการของกรดไหลย้อนดีขึ้นหลังลดน้ำหนัก
- หยุดสูบบุหรี่
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือการรับประทานอิ่มเกินไป เป็นสาเหตุกระตุ้นให้อาการกรดไหลย้อนเป็นมากขึ้นได้
การรักษากรดไหลย้อนด้วยยา
ยาที่ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนมีหลายชนิด ได้แก่
ยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors (PPIs)
เป็นยาทางเลือกแรกๆ ที่สามารถใช้บรรเทาอาการ รวมถึงรักษาภาวะหลอดอาหารอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างยาเช่น Omeprazole, Lansoprazole, Pantoprazole, esomeprazole วิธีการรับประทาน แนะนำให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 30-60 นาที วันละ 1-2 ครั้ง ผลข้างเคียงจากการใช้ชนิดนี้พบน้อยมาก แต่หากใช้ยาเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อในลำไส้ได้ง่ายขึ้น
H2-receptor antagonist (H2RA)
ยากลุ่มนี้จะพิจารณาใช้เสริมกับยากลุ่ม PPIs เพื่อบรรเทาอาการในเวลากลางคืน หรืออาจใช้แทนกลุ่ม PPIs ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่ม PPIs ได้ ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ เช่น Cimetidine, Famotidine โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานหลังอาหาร หรืออาจกินก่อนเข้านอน
Antacids
เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ ช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้อาการแสบร้อนบรรเทาลงได้ โดยอาจรับประทานก่อนนอน หรือหลังมื้ออาหาร 30-60 นาที
ยากลุ่มที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร
หรือ Prokinetic drugs ตัวอย่างยาเช่น Domperidone, Metoclopramide ทำให้อาหารที่รับประทานเคลื่อนตัวไปได้ไวขึ้น ยาชนิดนี้แนะนำให้รับประทานก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง
การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนอย่างเหมาะสม ร่วมกับการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม จะทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้
การผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อน
การผ่าตัดเพื่อรักษากรดไหลย้อน จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยอาจทำเมื่อมีข้อบ่งชื้ เช่น ผู้ที่อายุน้อยและได้รับการตรวจรักษารับประทานยาอย่างเหมาะสมแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากกรดไหลย้อน เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus), เลือดออกในทางเดินอาหารมาก หรือผู้ที่มีภาวะไส้เลื่อนกระบังลมขนาดใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้ การผ่าตัดมีหัตถการหลายๆ อย่าง ตัวอย่างเช่น เช่น Nissen fundoplication, Linx procedure, Roux-en-Y gastric bypass, Transoral incisionless fundoplication (TIF) เป็นต้น
การผ่าตัดแก้ไขโรคกรดไหลย้อน อาจพิจารณาเมื่อการรักษาอื่นไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรค
คำแนะนำสำหรับการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของกรดไหลย้อน
แม้เราจะรักษาโรคกรดไหลย้อนจนอาหารหายขาดแล้ว แต่ก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำของโรคได้อีก วิธีการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจเป็นสาเหตุของกรดไหลย้อน เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีไขมันสูง ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ช็อกโกแลต มินต์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- จำกัดการดื่มกาแฟ โดยไม่ควรดื่มเกินวันละ 2-3 แก้ว รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ชา
- รับประทานครั้งละน้อยๆ และเลี่ยงการรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกิน เนื่องจากอาจมีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
- หลีกเลี่ยงการนอนราบหลังการกินอาหารอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง
- นอนยกหัวสูงอย่างน้อย 2-6 นิ้ว
- หยุดสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม น้ำหนักที่มากเกินจะเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
การใช้ชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคกรดไหลย้อนได้
กรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์
ประมาณ 2 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์มักมีอาการแสบร้อนกลางอก อาการของโรคกรดไหลย้อนอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสใดก็ได้ของการตั้งครรภ์ โดยอาการดังกล่าวมักจะหายไปได้เองหลังคลอด ทั้งนี้ การตั้งครรภ์และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกรดไหลย้อน
การรักษากรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเช่นเดียวกันกับคนทั่วไป หากยังไม่ดีขึ้นแนะนำทาน Antacids พวกที่มีอะลูมิเนียม แคลเซียม หรือแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบ หรือซูคราลเฟต (Sucralfate) สำหรับยากลุ่ม H2-receptor antagonist และกลุ่ม proton pump inhibitors ส่วนใหญ่สามารถรับประทานได้ ยกเว้น omeprazole ที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์
กรดไหลย้อน กับคนท้อง เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งการรักษาทั่วไปไม่แตกต่างกับคนทั่วไป ทั้งนี้ต้องระวังยาบางชนิดที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้
บทสรุป เรื่องกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ถือเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย กลไกของโรคเกิดจากการไหลย้อนของอาหาร และน้ำย่อยชนิดต่างๆ จากกระเพาะอาหารขึ้นไปยังหลอดอาหาร และทำให้เกิดอาการแสบร้อนอก จุกแน่นอก เรอเปรี้ยว คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกมีก้อนในลำคอ เป็นต้น โดยอาการต่างๆ เหล่านี้จะรบกวนคุณภาพการใช้ชีวิต และหากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเยื่อบุหลอดอาหารมีการเจริญแบ่งตัวที่ผิดปกติได้
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนจะอาศัยจากประวัติและอาการที่เกิดขึ้นเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเนื่องจากอาการต่างๆที่พบอาจมีการคาบเกี่ยวกับโรคอื่นๆ ได้ ดังนั้น หากมีประวัติอื่นที่สงสัยไม่แน่ใจอาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพื่อแยกกับภาวะอื่นๆ ที่อันตราย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือหากคุณมีอาการสัญญาณเตือนอันตราย เช่น กลืนลำบาก โลหิตจาง น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ได้ตั้งใจ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือมีอาการอาเจียนซ้ำๆ บ่อยๆ ก็แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
โรคกรดไหลย้อนสามารถหายได้เอง คำแนะนำเบื้องต้นคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การลดน้ำหนัก รับประทานแต่พอดีไม่อิ่มจนเกินไป ไม่นอนราบหลังจากการรับประทานอาหารอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารไขมันสูง น้ำอัดลม นอกจากนี้ การรับประทานยาลดกรด และยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารก็สามารถทำให้อาการหายได้ไวขึ้น โรคชนิดนี้สามารถหายได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดซ้ำได้ ดังนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดโรคนี้นะครับ
การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการนอนราบหลังทานอาหาร ช่วยป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้