ท้อง เป็นส่วนของร่างกายที่อยู่บริเวณแกนกลางลำตัว เป็นส่วนของร่างกายที่สำคัญ ท้องมีพื้นที่ประมาณ 10% ของร่างกาย และมีอวัยวะภายในอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ หลอดเลือดแดงใหญ่ รวมไปถึงระบบสืบพันธุ์อีกด้วย ดังนั้นหากมีอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมีปัญหา ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องได้ ซึ่งบางโรคสามารถหายได้เอง บางโรคต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ในบทความนี้ จะเจาะลึกอาการปวดท้อง ว่ามีความสำคัญอย่างไร อาการปวดท้องแบบใดที่อันตรายต้องได้รับการรักษาอย่างด่วนที่สุด
สารบัญเนื้อหา
อวัยวะในช่องท้อง มีอะไรบ้าง
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ช่องท้องเป็นส่วนของร่างกายที่สำคัญ เนื่องจากมีอวัยวะอยู่ภายในช่องท้องเป็นจำนวนมาก โดยอวัยวะเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย
ก่อนจะพูดถึงอวัยวะภายในช่องท้อง ผนังหน้าท้องก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่คอยปกป้องอวัยวะภายใน ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เยื่อบุ ไขมันหน้าท้อง และเส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อกับกระดูก ผนังหน้าท้องนี้หากมีการบาดเจ็บก็อาจทำให้มีอาการปวดท้องได้เช่นกัน
หากจะกล่าวถึงอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมด ในทางการแพทย์จะแบ่งตามพื้นที่ของช่องท้อง ได้แก่ ท้องขวาบน ท้องขวาล่าง ท้องซ้ายบน ท้องซ้ายล่าง ใต้ลิ้นปี่ กลางท้อง และท้องน้อยตรงกลาง
- อวัยวะท้องขวาบน จะเป็นที่อยู่ของ ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไตขวาบางส่วน
- อวัยวะท้องขวาล่าง จะเป็นที่อยู่ของ ไส้ติ่ง ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไตขวาบางส่วน รังไข่(ผู้หญิง)
- อวัยวะท้องซ้ายบน จะเป็นที่อยู่ของ ม้าม กระเพาะอาหารบางส่วน ไตซ้ายบางส่วน ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่
- อวัยวะท้องซ้ายล่าง จะเป็นที่อยู่ของ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไตซ้ายบางส่วน ต่อมน้ำเหลือง รังไข่(ผู้หญิง)
- อวัยวะใต้ลิ้นปี่ จะเป็นที่อยู่ของ กระเพาะอาหาร ตับกลีบซ้าย ตับอ่อน ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก
- อวัยวะกลางท้อง จะเป็นที่อยู่ของ ลำไส้เล็ก เส้นเลือดแดงใหญ่
- อวัยวะท้องน้อยตรงกลาง จะเป็นที่อยู่ของ ลำไส้ตรง กระเพาะปัสสาวะ และมดลูก(ผู้หญิง)
อวัยวะภายในช่องท้อง
จะเห็นว่าลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่จะเป็นอวัยวะใหญ่ที่อยู่แทบทุกส่วนของช่องท้อง ดังนั้นอาการปวดท้องหลายครั้งจะเกี่ยวข้องกับลำไส้ บางอวัยวะอยู่ค่อนไปทางด้านหลัง เช่น ไตทั้ง 2 ข้าง กล้ามเนื้อโซแอส (Psoas muscle) ทั้ง 2 ข้าง ทำให้อาจมาด้วยอาการปวดหลังร่วมด้วย และบางอวัยวะอาจจะอยู่เหลื่อมล้ำพื้นที่ เช่น ไส้ติ่งอาจจะอยู่ท้องน้อยตรงกลางหรือช่วงหลังเลยก็ได้ ทำให้บางครั้งการวินิจฉัยภาวะไส้ติ่งอักเสบจะยากขึ้น
ตำแหน่งของไส้ติ่ง ทั่วไปจะอยู่ตำแหน่งท้องขวาล่าง แต่บางคนอาจอยู่ช่วงท้องน้อยตรงกลางหรือช่วงหลังได้
ลักษณะอาการปวดท้อง มีอะไรบ้าง
อาการปวดท้องในทางการแพทย์ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
อาการปวดท้องจากอวัยวะภายใน (Visceral pain)
คือ อาการปวดท้องที่มีสาเหตุมาจากอวัยวะในช่องท้อง เนื่องจากอวัยวะภายในจะเลี้ยงด้วยเส้นประสาทระบบอัตโนมัติ เมื่อมีการบาดเจ็บหรืออักเสบ ทำให้มีอาการปวดท้องบิด เป็นๆ หายๆ ปวดแบบหน่วงๆ ทื่อๆ โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้แน่ชัด หรือจะเป็นลักษณะปวดภายในท้องมากขึ้นช่วงขณะนึงแล้วคลายไปแต่ไม่หายสนิท ลักษณะเหล่านี้บ่งบอกถึงอาการปวดท้องจากอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมด
ลักษณะอาการปวดท้องจากอวัยวะภายใน (Visceral pain) จะปวดบิดๆ หน่วงๆ ทื่อๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน
อาการปวดท้องจากอวัยวะภายนอก (Somatic pain)
คือ อาการปวดท้องที่มีสาเหตุนอกเหนือจากอวัยวะภายใน ได้แก่ เยื่อบุผนังหน้าท้อง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ชั้นไขมัน และผิวหนัง อวัยวะเหล่านี้เลี้ยงด้วยเส้นประสาทรอบนอก จึงทำให้ลักษณะอาการปวดเป็นแบบแหลมคม สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน
ลักษณะอาการปวดท้องจากอวัยวะภายนอก (Somatic pain) จะปวดแบบแหลมคม ระบุตำแหน่งได้
อาการปวดท้องที่อยู่ห่างไกลจากอวัยวะที่ปวดจริง (Referred pain)
คือ อาการปวดท้องที่เกิดตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่จากความเจ็บปวดของอวัยวะนั้น เกิดจากการที่เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะภายในนั้น รวมกันเข้าที่รากประสาทในไขสันหลัง ซึ่งในนั้นอาจมีเส้นประสาทที่เลี้ยงอวัยวะภายในส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาปอดอักเสบ อาจปวดท้องบริเวณส่วนบนได้ แทนที่จะปวดบริเวณหน้าอก เป็นต้น
อาการปวดท้องแบบใดที่ต้องไปโรงพยาบาล
อาการปวดท้องส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่มีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอื่นๆ ที่ต้องพบแพทย์เพื่อรักษา ได้แก่
- อาการปวดท้องรุนแรง ปวดมากที่สุดในชีวิต หรือลักษณะอาการปวดท้องแบบไม่เหมือนที่เคยปวดมาก่อน ทานยาแก้ปวดหรือได้รับยารักษาแล้วไม่ดีขึ้น
- อาการปวดท้องร่วมกับมีผนังหน้าท้องเกร็ง กดเจ็บมาก อาจมีจุดกดเจ็บที่ใดที่หนึ่งหรือเจ็บทั่วท้อง
- อาการร่วมอื่นๆ เช่น มีไข้สูง ถ่ายเหลวหรืออาเจียนมาก ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด อ่อนเพลียมาก ไม่สามารถรับประทานน้ำหรืออาหารได้ ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตต่ำ ตัวซีดเย็นเหงื่อออก ซึมสับสน ไม่รู้สึกตัว เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที
- อาการปวดท้องที่ไม่ฉุกเฉิน แต่ควรไปพบแพทย์ เช่น ปวดท้องเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ถ่ายเหลวสลับท้องผูกเป็นประจำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงแบบไม่ตั้งใจ แน่นท้องไม่ผายลม ถ่ายไม่ออกหรือถ่ายออกเม็ดเล็กๆเหมือนขี้กระต่าย ท้องโตขึ้น ตัวเหลืองตาเหลือง คลำก้อนได้ที่ท้อง เป็นต้น
อาการปวดท้องรุนแรงมากที่สุดในชีวิต จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุของอาการปวดท้องที่พบบ่อย
อาการปวดท้องมีได้หลายสาเหตุ โดยทั่วไป การวินิจฉัยอาการปวดท้อง ต้องได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และบางรายจำเป็นต้องได้รับการเจาะเลือดหรือเอกซ์เรย์ เพิ่มเติม การสังเกตอาการตนเองเบื้องต้น ทั้งลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่ปวด อาการปวดย้ายตำแหน่ง รวมไปถึงอาการร่วมอื่นๆ เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน จะช่วยในการวินิจฉัยได้เป็นอย่างดี
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis)
เกิดจากการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ สาเหตุส่วนใหญ่คืออาหารเป็นพิษ รวมไปถึงการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส อาการที่พบ คือ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดบิดท้อง อาจจะมีปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ หรือบางครั้งจะมีแค่อาการถ่ายเหลวไม่ปวดท้องก็ได้
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบมักมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องเสียถ่ายเหลวร่วมด้วย
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis, Dyspepsia)
หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โรคกระเพาะ เกิดจากมีการอักเสบที่กระเพาะอาหาร สาเหตุอาจมาจากมีภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรีย H.pyroli ก็ได้ อาการที่พบ คือ ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ เจ็บตรงลิ้นปี่ อาจมีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ ได้ ลักษณะของอาการปวดท้อง อาจปวดแสบร้อนกลางอก หายใจไม่อิ่ม หรือจุกแน่นเหมือนอาหารไม่ย่อยได้ สามารถดูรายเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ
โรคไส้ติ่งอักเสบ (Acute appendicitis)
เป็นโรคที่พบได้บ่อยหากมีอาการปวดท้องด้านขวาล่าง มักเกิดจากอุจจาระอุดกั้นไส้ติ่ง ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตแล้วเกิดการติดเชื้อ และมีการอักเสบในที่สุด อาการที่พบมักเริ่มต้นด้วยอาการปวดมวนๆ ทั่วๆ ท้องก่อน ต่อมาอาการปวดท้องจะย้ายตำแหน่งไปบริเวณขวาล่าง ลักษณะจะปวดแบบจี๊ดๆ ตำแหน่งปวดชัดเจน กดเจ็บ เกร็งท้อง อาการอื่นๆ ที่มักพบร่วมกัน คือ ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ถ่ายเหลว เป็นต้น
อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ
โรคท้องผูก (Constipation)
เกิดจากกินอาหารจำพวกไฟเบอร์น้อย หรือดื่มน้ำน้อย ทำให้ร่างกายขับอุจจาระไม่ได้ อาการ มักมาด้วย ปวดท้องบิดไม่ถ่าย ปวดท้องเหมือนปวดอุจจาระแต่ไม่ถ่าย หรือถ่ายไม่ออก บางครั้งอาจคลื่นไส้ ปวดท้องจะอ้วก แต่ไม่อ้วกก็ได้ สาเหตุของท้องผูกอาจมาจากยาบางชนิด และอายุที่มากขึ้น แต่หากมีพังผืด หรือก้อนอุดกั้นลำไส้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการถ่ายไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ผายลม ปวดแน่นท้องได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายต้องได้รับการรักษาโดยศัลยแพทย์
โรคนิ่วในไต (Renal stone)
เกิดจากมีนิ่วอยู่ในไต ทำให้การกรองปัสสาวะติดขัด และเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องได้ ลักษณะของอาการปวดท้องจะอยู่บริเวณด้านใดด้านหนึ่งที่มีนิ่ว และเนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่อยู่ค่อนไปทางด้านหลัง บางครั้ง อาการปวดท้อง ปวดหลังพร้อมกันได้ อาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีเลือดปน เป็นต้น
อาการของโรคนิ่วในไต
โรคของอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง (Gynecologic disease)
เช่น โรคที่เกี่ยวกับรังไข่ ท่อนำรังไข่ และมดลูก เพราะอวัยวะเหล่านี้จะอยู่ในช่องท้องส่วนล่าง ทำให้ผู้หญิงที่มีโรคเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์จะทำให้ปวดท้องด้านล่างได้ ลักษณะอาการปวดจะปวดหน่วง ตื้อๆ มักไม่ค่อยมีอาการระบบทางเดินอาหาร แต่อาจมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวผิดปกติได้ ตัวอย่างโรคกลุ่มนี้ เช่น โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ โรคถุงน้ำรังไข่แตก โรคท้องนอกมดลูก กลุ่มโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือปวดท้องประจำเดือน เป็นต้น
การรักษาเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวดท้อง
โดยทั่วไป เมื่อมีอาการปวดท้อง ให้สังเกตลักษณะอาการปวด หากอาการปวดท้องเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้การสังเกตลักษณะอาการปวด และอาการร่วมอื่นๆ จะช่วยในการวินิจฉัยได้มาก
การใช้ยารักษาบรรเทาอาการปวดท้อง สามารถใช้ได้ในช่วงเริ่มต้นของอาการปวดท้อง การใช้ยาให้ตรงกับสาเหตุอาการปวดท้องจะช่วยลดอาการปวดได้มาก เช่น
– ยาเคลือบกระเพาะ ยาลดกรด ยาลดอาการแน่นเฟ้อ จะช่วยลดอาการปวดได้ดีในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
– ยาลดอาการบิดเกร็งท้อง จะช่วยลดอาการปวดท้องในโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบได้ดี
– ยาแก้ปวดลดการอักเสบ กลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen จะช่วยลดอาการปวดท้องที่มีสาเหตุจากนิ่วในไตได้ดี แต่การกินยากลุ่ม NSAIDs อาจต้องระวังเรื่องการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น อาจทำให้บางคนมีอาการปวดแสบท้องใต้ลิ้นปี่ขึ้นมาแทน
นอกจากยากลุ่มลดอาการปวดท้องแล้ว หากมีอาการข้างเคียงอื่นๆ การใช้ยาบรรเทาอาการ ก็จะช่วยความไม่สุขสบายของร่างกายได้เช่นเดียวกัน เช่น ใช้ยา Domperidone เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน กินน้ำเกลือแร่ทางการแพทย์ (ORS) สำหรับอาการท้องเสียถ่ายเหลว เพื่อลดอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำไป เป็นต้น
หากการใช้ยาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีความกังวลว่าจะเป็นโรคที่ร้ายแรงหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องจะดีที่สุด เพราะเรื่องอาการปวดท้องนั้นหากไม่พบสาเหตุที่ถูกต้อง จะทำให้การรักษาล่าช้า และอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลัง หรือที่ร้ายแรงที่สุดคืออาจเสียชีวิตได้เลย
การกินยารักษาเบื้องต้น อาจพอช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
สรุป ปวดท้อง อาการพบบ่อย ที่เสี่ยงได้หลายโรค
อวัยวะภายในช่องท้อง เป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นเมื่อมีโรคใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเหล่านี้ จะทำให้มีอาการปวดท้องได้ ลักษณะอาการปวดท้องจะเป็นตัวช่วยบอกสาเหตุของอาการปวดท้องได้ การสังเกตตำแหน่งที่ปวด ลักษณะอาการปวด การย้ายตำแหน่ง อาการร่วมอื่นๆ จะช่วยให้หาสาเหตุของอาการปวดท้องได้ หากมีอาการปวดท้องที่รุนแรง ปวดมากที่สุดในชีวิต ปวดผนังหน้าท้องเกร็ง กดเจ็บมาก มีไข้สูง ถ่ายเหลวอาเจียนมากรุนแรง หอบเหนื่อย ซึม หมดสติ ชักเกร็ง ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที แต่หากอาการไม่รุนแรงมาก การกินยาให้ตรงกับสาเหตุของอาการปวดท้องนั้นๆ ก็จะพอช่วยบรรเทาอาการได้ และอาการปวดท้องส่วนใหญ่อาจหายได้เอง
บทความอ้างอิง
- Harrison’s Principles of internal Medicine 19th edition
- Rosen’s Emergency medicine 9th edition
- Tintinalli’s Emergency medicine 9th edition
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7121692/
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459328/